วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การปรับค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานมหาวิทยาลัย มติคณะรัฐมนตรี 30 สิงหาคม 2548


วันนี้ (วันอังคารที่ 30 สิงหาคม 2548) เมื่อเวลา 08.30 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 2 ตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลังใหม่ ทำเนียบรัฐบาล พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

19. เรื่อง การปรับค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานมหาวิทยาลัย
คณะรัฐมนตรีพิจารณาการปรับค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ แล้วมีมติดังนี้
  1. อนุมัติในหลักการให้ปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างพนักงานมหาวิทยาลัย ตามแนวทางเดียวกับการปรับปรุง ค่าตอบแทนภาคราชการ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2547 (เรื่องมาตรการปรับค่าตอบแทนภาคราชการ และเรื่อง การกำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการเกี่ยวกับการปรับปรุงค่าตอบแทนของข้าราชการ) และมติ คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2547 (เรื่อง การปรับปรุงค่าตอบแทนเพื่อช่วยเหลือการครองชีพข้าราชการระดับต้น ระยะเฉพาะหน้า) ทั้งนี้ ภายในวงเงินงบประมาณ 361.58 ล้านบาท โดยให้กระทรวงศึกษาธิการทำความตกลงใน รายละเอียดกับสำนักงบประมาณเพื่อใช้เงินเหลือจ่ายหรือปรับแผนการใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2548 ตามความเห็นสำนักงบประมาณ
  2. เห็นชอบตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ในการจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยใหม่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 และการจัดสรรงบประมาณเพิ่มสำหรับการเลื่อนขั้นตามหลักเกณฑ์ ไม่เกินร้อยละ 4 เช่นเดียวกับองค์การมหาชน องค์กรอิสระ และมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
  3. การปรับปรุงค่าตอบแทนการจ้างพนักงานมหาวิทยาลัย เพื่อให้สัมพันธ์กับการปรับปรุงค่าตอบแทนภาคราชการในโอกาสต่อไป ให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการเพื่อขอรับการจัดสรรเป็นคราว ๆ ไป
กระทรวงศึกษาธิการรายงานว่า จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2547 ก่อให้เกิดผลกระทบกับระบบพนักงานมหาวิทยาลัย ดังนี้
  1. พนักงานที่เข้าสู่ระบบแล้ว โดยได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของข้าราชการ และมีเงื่อนไขสภาพความมั่นคงที่ขึ้นอยู่กับการประเมินผลการปฏิบัติงาน และการต่อสัญญาจ้างเป็นครั้ง ๆ ไปนั้น หากมหาวิทยาลัยไม่สามารถปรับอัตราค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นในแนวทางเดียวกับข้าราชการที่ได้รับการปรับอัตราเงินเดือนและได้รับเงินค่าตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือน ย่อมก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม และทำให้การบำรุงรักษาพนักงานที่มีคุณภาพให้อยู่ในระบบต่อไปเป็นไปได้โดยยาก เนื่องจากพนักงานมหาวิทยาลัยอยู่ในสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ และสถานภาพทางสังคมที่ไม่แตกต่างจากข้าราชการ
  2. การจ้างพนักงานใหม่ หากมหาวิทยาลัยไม่สามารถปรับอัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้น ก็จะไม่จูงใจคนที่มีความรู้ความสามารถและไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดแรงงาน การสรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์สูง เข้าสู่ระบบจะเป็นไปได้ยากขึ้น โดยเฉพาะบุคลากรในสายผู้สอน ซึ่งต้องเป็นบุคคลที่พัฒนาความรู้ของตนเองอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอเพื่อให้ทันต่อความก้าวหน้าทางวิชาการ
ทั้งนี้ นโยบายการจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยทดแทนอัตราราชการเป็นการเตรียมการเพื่อสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐด้วย และโดยเหตุที่หลักการกำหนดอัตราค่าจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยนั้น กำหนดจากฐานเงินเดือนของข้าราชการแรกบรรจุและบวกด้วยเงินเพิ่ม ในกรณีที่มีการปรับใช้บัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการใหม่ ซึ่งเป็นผลให้อัตราข้าราชการแรกบรรจุเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการให้ได้รับเงิน ค่าตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือนอัตราค่าตอบแทนพนักงานมหาวิทยาลัย จึงควรได้รับการปรับเพิ่มขึ้นโดยสัมพันธ์กับการปรับปรุงค่าตอบแทนภาคราชการที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย


วันพุธที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ขอเชิญร่วมเสวนาวิชาการ "เหลียวหลังแลหน้าพนักงานมหาวิทยาลัย" # อุดรธานี


แถลงการณ์เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา ฉบับที่ 1


ประชุมเพื่อหารือแนวทางปฏิบัติหรือเกณฑ์กลางในการบริหารงานบุคคลสำหรับพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ขอเชิญเข้าร่วมประชุมเสวนาวิชาการการพัฒนามหาวิทยาลัยสู่....ประชาคมอาเซียน และอนาคตของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา # อุบลราชธานี

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ความแตกต่างระหว่างข้าราชการ กับ พนักงานมหาวิทยาลัย


ขอเชิญเข้าร่วมเสวนาวิชาการ อนาคตการอุดมศึกษาไทย ภายใต้ระบบการบริหารงานบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัย # เชียงใหม่


ขอเชิญเข้าร่วมเสวนาวิชาการ อนาคตการอุดมศึกษาไทย ภายใต้ระบบการบริหารงานบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัย # เชียงราย

วันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

พนักงานมหาวิทยาลัยกับการทำให้เป็นคนชายขอบ

“พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้ทำงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหรือเงินรายได้ของสถาบันอุดมศึกษา” เป็นข้อความสั้นๆ ในจำนวน 8 หน้า ที่แสดงถึงการมีตัวตนของการมีอยู่ของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาหรือพนักงานในมหาวิทยาลัย ใน พรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551
การกำเนิดเผ่าพันธุ์ของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา สืบเนื่องจากในปี พ.ศ.2542 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จัดจ้างพนักงานทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการออกนอกระบบในปี พ.ศ. 2545 มหาวิทยาลัยออกนอกระบบออกเพื่อใคร??? คืออีกหนึ่งประเด็นที่ต้องการคำตอบมหาวิทยาลัยเป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ กฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ ในส่วนของมหาวิทยาลัยที่ต้องการออกนอกระบบ คำถามคือ ออกเพื่อใคร ต้องการออกเพราะความคล่องตัวของการบริหารงาน เพื่อดึงคนเก่งเข้ามาในมหาวิทยาลัย แต่การดึงคนเก่งเข้ามาต้องหารายได้ให้มากเพื่อจะได้มีค่าจ้างที่แพงขึ้นใช่หรือไม่...แล้วรายได้มาจากไหน..จำนวนนักศึกษา การเพิ่มค่าหน่วยกิต เป็นพัฒนาการเพื่อแสวงผลกำไรทางการค้า ถ้าเป็นเช่นนั้นรัฐต้องการส่งเสริมเรื่องการศึกษาเป็นธุรกิจใช่หรือไม่ ที่ผ่านมาการดำเนินนโยบายของภาครัฐที่ต้องการนำเอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบ สามารถตอบโจทย์ การพัฒนาการศึกษาไทยได้จริงหรือ....หรือเป็นเพียงคำโป้ปดเพียงแค่อยากผลักภาระของภาครัฐฯ

จากการดำเนินนโยบายมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบ มีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน แล้วทุกวันนี้ผู้บริหารเกือบทุกมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เป็นใคร..หากไม่เป็นส่วนราชการ เหตุใดจึงมีข้าราชการอยู่ในหน่วยงาน....ต่างกันกับหน่วยงานอื่นที่ถูกแปรรูปไป เช่น การบินไทย ไปรษณีย์ บริษัท ปตท.(การปิโตเลียมแห่งประเทศไทย)ฯลฯ ที่กลายสภาพเป็นบริษัท มีสภาพแรงงานเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์และต่อรองจากฝ่ายบริหาร...แต่ในทางกลับกันมหาวิทยาลัยยังคงใช้ระบบข้าราชการอยู่จนถึงปัจจุบัน การบรรจุอาจารย์ใหม่เรียกว่า “พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” ตาม พรบ.ที่กำหนด การที่รัฐบาลจะสร้างมาตรฐานสองระบบในสถานที่เดียวกัน ปัญหาจึงเกิดเพราะหลักการปฏิบัติ ย่อมเกิดความเลื่อมล้ำ จากนโยบายดังกล่าวผลักดันให้อาจารย์ใหม่ในมหาวิทยาลัยเป็นคนชายขอบ สภาวะของความเป็นชายขอบ ทำให้ถูกทอดทิ้ง ถูกเอาเปรียบ และถูกเอาประโยชน์ ถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงทรัพยากร ฯลฯ คนเหล่านี้มักอยู่นอกสายตา ไม่เคยถูกเล็งเห็นและได้รับการช่วยเหลือ สิ่งที่รัฐบาลได้วางนโยบายไว้สวยหรู คือ พนักงานมหาวิทยาลัยต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน อัตราเงินเดือนแรกเข้าโดยให้ได้รับเงินเดือนในอัตราที่มากกว่าข้าราชการ คือ เพิ่มขึ้น 1.7 เท่า สำหรับ สาย ก. และเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า ของสาย ข. มีกี่มหาวิทยาลัยที่ทำได้ สิ่งที่พนักงานมหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบ คือความไม่มั่นคงทางอาชีพ เนื่องด้วย พรบ.ดังกล่าว ระบุว่า “พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้ทำงานในสถาบันอุดมศึกษา” หลักการนี้ผลักดันให้ อาจารย์ใหม่ในมหาวิทยาลัย กลายเป็นอาจารย์อัตราจ้างขึ้นมาทันที หากถูกเลิกจ้างจึงไม่มีสิทธิ์ในการได้รับการชดเชย 3 เดือน จากนายจ้าง ตามกฎหมายแรงงาน เพราะ “มหาวิทยาลัยไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์”
นอกจากนี้การเป็นบุคคลไร้สถานภาพ ทำให้ขาดสิทธิ์รักษาพยาบาล พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา ส่วนใหญ่มีระดับการศึกษา ระดับปริญญาโท ปริญญาเอก จัดเป็นกลุ่มมันสมองของประเทศ แต่คนกลุ่มนี้กลับถูกละเลยจากรัฐบาล จ้างโดยสัญญาจ้าง สิทธิ์อื่นใดไม่มี ผลิตบัณฑิตสู่สังคม รุ่นแล้วรุ่นเล่า แต่เงินเดือนยังอยู่ที่หมื่นสองหมื่นสาม ลูกศิษย์ที่สำเร็จการศึกษามีเงินเดือนแซงหน้าลิบ
ระบบศักดินาในมหาวิทยาลัย พนง.มหาวิทยาลัยต่างรู้ดีว่าเป็นพลเมืองชั้นสองในระบบ..ความเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย...หลายคนบอกโก้หรู...เป็นแนวหน้าสำหรับจะพาประเทศเข้าสู่อาเซียน อาจารย์ใหม่คิดอยากจะขอสินเชื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ธนาคารยังจัดไม่ถูกว่าอยู่ในหมวดใด จะเป็นข้าราชการก็ไม่ใช่ เป็นลูกจ้างประจำก็ไม่ใช่ ลูกจ้างชั่วคราวก็ไม่เชิง ครูอัตราจ้างก็ไม่ใช่ ธนาคารถามแบบ งงๆ ว่าตกลงคุณเป็นอะไรกันแน่ (รัฐบาลออกมาตอบหน่อยว่า พนักงานมหาวิทยาลัย ตกลงเป็นตัวอะไรกัน??? )

(ครู)คนชายขอบ
6 พฤษภาคม 2555

สถานภาพอาจารย์พนักงาน ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ

สถานภาพอาจารย์พนักงาน ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ

โดย สุรชัย เทียนขาว มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ลพบุรี

สถาบันอุดมศึกษาของรัฐในปัจจุบันที่อยู่ในสังกัด / กำกับของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้มีการก่อรูปแบบการบริหารไปสู่รูปแบบการบริหารสถาบันอุดมศึกษาทั้งที่เป็นส่วนราชการและเป็นมหาวิทยาลัยกำกับรัฐบาลหรือนอกระบบ ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อม ความต้องการของประชาคมและนโยบายแต่ละแห่ง อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยกลุ่มใหม่ของรัฐ ได้แก่ กลุ่มมหาวิทยาลัยราชมงคลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และมหาวิทยาลัยนครพนม ยังดำรงสถานภาพเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นส่วนราชการต่อไปอีกหลายปี

เนื่องจากกลุ่มมหาวิทยาลัยต่างๆ เหล่านี้เพิ่งได้รับการยกฐานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นนิติบุคคลได้ไม่นานมานี้ ยังต้องพัฒนาตนเองไปอีกระยะหนึ่ง แม้ว่าจะมีบางสถาบันประกาศนโยบายนำสถาบันไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบก็ตาม ซึ่งมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น

กลุ่มมหาวิทยาลัยกลุ่มใหม่ดังกล่าวนี้มีกลุ่มบุคคลที่เข้ามาทำงานในตำแหน่งอาจารย์ที่มีสถานภาพเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ได้ให้นิยามไว้ว่า เป็นบุคคลที่ได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหรือเงินรายได้ของสถาบันอุดมศึกษา

พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นลูกจ้างชั่วคราวของสถาบันอุดมศึกษานั่นเอง ไม่มีหลักประกันว่าจะจ้างกี่ปี เลิกจ้างเมื่อไร อัตราเงินเดือน (อัตราค่าจ้าง) เงินเพิ่ม และสวัสดิการต่างๆ รวมทั้งการเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการ และเงินประจำตำแหน่ง ขึ้นอยู่กับข้อบังคับของสภาสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งเป็นผู้กำหนดสาระต่างๆ อาจจะมีมาตรฐานที่แตกต่างกันไปของแต่ละสถาบัน

สำหรับสถานภาพของกลุ่มอาจารย์พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา พอที่จะมองเห็นลู่ทางที่ชัดเจนขึ้นด้วยการมองการณ์ไกลของรัฐบาล พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีกูรูด้านการบริหารการอุดมศึกษา ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประดิษฐ์ (invent) ระบบอาจารย์พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ภายใต้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2551

กฎหมายฉบับนี้เป็นผลงานทางด้านการอุดมศึกษาที่โดดเด่นของรัฐบาลสมัยนั้น เนื่องจากมีบทบัญญัติหลายมาตราที่ช่วยยกสถานภาพของอาจารย์พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ไม่ได้เป็นข้าราชการให้สามารถรับสิทธิบางประการทัดเทียมกับกลุ่มอาจารย์ที่เป็นข้าราชการ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมวด 9 ประกอบด้วยมาตรา 65/1 และมาตรา 65/2 แม้ว่ารัฐบาลชุดที่แล้วได้ปรับปรุงบทบัญญัติเพื่อรองรับสถานภาพอาจารย์พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และมีผลบังคับใช้แล้วก็ตาม เปรียบเสมือนเป็นฐานรากของอาคาร

แต่องค์ประกอบอื่นๆ ที่เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้อาจารย์กลุ่มดังกล่าวเกิดความรู้สึกว่ามีความมั่นคง มีความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน มีรายได้ที่ทัดเทียมกับการทำงานในองค์การอื่นๆ มีสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่พึงได้ไม่น้อยกว่ากลุ่มที่เป็นข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษา ระบบการเลื่อนขึ้นเงินเดือนประจำปี ระยะเวลาการจ้าง ฯลฯ อาจารย์กลุ่มดังกล่าวยังมีคำตอบที่ไม่ชัดเจน

แม้ว่าสภาสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งได้ออกข้อบังคับเพื่อกำหนดแนวทางไว้แล้ว แต่แนวปฏิบัติในแต่ละเรื่องตามข้อบังคับของสภา สถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับมุมมองความชำนาญการ เชี่ยวชาญ และวิสัยทัศน์ ของสภาสถาบันอุดมศึกษารวมทั้งศักยภาพของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง

สถาบันอุดมศึกษาซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดของสถาบันจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการจูงใจ และรักษาคนดีคนเก่ง และอาจารย์ที่มีคุณวุฒิสูงให้คงอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เนื่องจากสภาเป็นผู้ออกข้อบังคับ ระบบบริหารงานบุคคลของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐจะมีความก้าวหน้าและดลใจให้อาจารย์กลุ่มดังกล่าวมีกำลังใจ รู้สึกว่าตนเองมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ ก้าวหน้าทัดเทียมกับการทำงานอื่นๆ ที่มีคุณวุฒิเท่ากันโดยเฉพาะปริญญาเอก

คำถามสำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารการอุดมศึกษาของไทย ก็คือทำอย่างไรที่จะทำให้ข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของอาจารย์พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาของสภาสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งมีความทันสมัย และจูงใจคนดีคนเก่งอยากเข้าทำงาน หรือคงอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในลักษณะที่ยั่งยืน

ในประเด็นนี้ท่านเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (ดร.สุเมธ แย้มนุ่น) ซึ่งเป็นนักบริหารอุดมศึกษาเชิงยุทธศาสตร์ที่โดดเด่นคนหนึ่งน่าจะนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ระบบการบริหารสถาบันอุดมศึกษาให้สำเร็จ

ทำอย่างไรจึงจะมีกรอบมาตรฐานกลางระดับชาติในด้านการบริหารบุคคลของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาเพื่อใช้เทียบเคียง (Benchmark) ของสภาสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง โดยเฉพาะบทบัญญัติในมาตรา 65/1 และ 65/2 ให้แต่ละแห่งกำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการเทียบเคียงกับมาตรฐาน อาจทำให้มาตรฐานการบริหารบุคคลของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐแต่ละแห่งมีช่องว่างและแตกต่างกันมากเกินไป

เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ใหญ่และเป็นที่กังวลของผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาของรัฐกลุ่มนี้ในปัจจุบัน และอนาคตจะเป็นประชาคมส่วนใหญ่ของสถาบันอุดมศึกษารวมทั้งมีบทบาทที่เป็นต้นน้ำหรือตัวแปรอิสระที่สำคัญยิ่งในระบบการผลิตบัณฑิต และการปฏิบัติพันธกิจของอุดมศึกษา

และหากเหลียวมองดูสถาบันอุดมศึกษาข้างเคียงคือ สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นสถาบันอุดมศึกษาแม่เหล็กที่เป็นแหล่งทำงานที่พึงประสงค์ของอาจารย์กลุ่มดังกล่าวเพราะเป็นระบบที่มีความมั่นคง ก้าวหน้ามากกว่า

ฝ่ายการเมืองโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการควรให้ความสำคัญต่อการสร้างสถานภาพของอาจารย์พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐด้วยการกำหนดเป็นวาระระดับชาติ เพื่อให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องได้รวมพลังในการสร้างระบบการบริหารงานบุคคลของอาจารย์พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐให้มีมาตรฐาน

หรือจะปล่อยให้กลุ่มอาจารย์พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ โดยเฉพาะในกลุ่มมหาวิทยาลัยของรัฐกลุ่มใหม่ที่กล่าวข้างต้น มีสถานภาพเป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราวในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเท่านั้น

ที่มา : http://news.sanook.com/scoop/scoop_293166.phpv

วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เลขาฯ สกอ. ส่งหนังสือถึง ประธาน ทปอ. 3 แห่ง [ความคืบหน้าจาก สกอ.]



..

บุคคลที่สถานะไม่ชัดเจน

บุคคลที่สถานะไม่ชัดเจน

โดย Poy-Rewanee Chaichaowarat เมื่อ 1 พฤษภาคม 2012 เวลา 16:00 น. ·


อาจารย์มหาวิทยาลัย...ฟังดูเป็นอาชีพที่ดูมีเกียรติและศักดิ์ศรี มีหน้ามีตาในสังคมดีทีเดียว แต่ใครจะคิดบ้างว่า สถานะของอาจารย์มหาวิทยาลัยในปัจจุบันนี้ได้แตกต่างกับในอดีตมากมายเกินกว่าจะคาดคิดถึง

จริงอยู่ที่ภาระหน้าที่หลักของการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยคือการสร้างบัณฑิตระดับอุดมศึกษาเพื่อป้อนเข้าสู่สังคม เป็นกลไกในการขับเคลื่อนหลักของระบบสังคม เศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ แต่ทว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนหนึ่ง(ซึ่งในปัจจุบันอาจนับได้ว่าเป็นคนส่วนใหญ่)กลับมีสถานภาพแตกต่างจากอาจารย์มหาวิทยาลัยอีกกลุ่มหนึ่งอย่างชัดเจน ด้วยคำเรียกขานที่แตกต่างกันว่า "พนักงานมหาวิทยาลัย"

ด้วยคำเรียนกขานที่แตกต่างกันเช่นนี้..ด้วยระยะเวลาในการถือกำเนิด ทำให้มีความเป็นอาวุโสอ่อนด้อยกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เป็นข้าราชการ..สวัสดิการและค่าตอบแทนที่ผู้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเช่นเดียวกัน หากแต่มีคำเรียกขานทางสถานะแตกต่างกันพึงได้ จึงน้อยกว่าอย่างที่หลายฝ่ายไม่อาจคาดคิดถึง

..เจ็บป่วยคราใดใช้สิทธิ์การรักษาประกันสังคม เช่นเดียวกับลูกจ้างห้างร้านทั่วไป

...ด้วยรายได้ที่รัฐบาลประกาศปาวๆ ว่า ป.ตรี หมื่นห้า แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยผู้ซึ่งเป็นเพียงพนักงานมหาวิทยาลัย จบ ป.โท ป.เอก เกลื่อนกลาด ด้วยเกณฑ์ที่ สกอ.ครอบไว้ว่า จะทำการสอน ป.ตรี ได้ผู้สอนต้องมีคุณวุฒิอย่างน้อย ป.โท..กลับได้รับเงินเดือนน้อยกว่าลูกศิษย์ตัวเอง ...สังคมภายนอกที่มองว่าอาจารย์มหาลัยเป็นหนึ่งในกลุ่มอาชีพผู้มีอันจะกินพึงรักษาหน้าตัวเองด้วยการเสียภาษีสังคมที่เดือนๆ นึงก็มิใช่น้อย..หากมีแผนในอนาคตว่าจะจัดงานที่เรียกภาษีสังคมคืนได้ก็ว่ากันไป แต่สำหรับผู้ที่ไม่เห็นอนาคตในด้านนั้นก็มีหนี้ศูนย์ปีๆ นึงเหยียบครึ่งหมื่นกันเลยทีเดียว

.....การทำผลงานทางวิชาการ แน่นอนว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยทุกคนใฝ่ฝันว่าจะพัฒนาศักยภาพตัวเองเป็นทุนเดิม ย่อมต้องการพัฒนาตำแหน่งทางวิชาการ ด้วยข้อเสนอที่น่าสนใจยิ่งนัก..ข้าราชการครูดูเหมือนจะได้รับค่าตอบแทนมากกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยเสียด้วยซ้ำ..เช่นนี้แล้ว มิสู้ให้อาจารย์มหาวิทยาลัยลาออกไปพัฒนาเด็กและเยาวชนของชาติในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานดีกว่าหรือ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงความเข้มงวดกวดขันในเชิงวิชาการที่ตำแหน่ง ผศ. รศ. หรือ ศ. ต้องรับภาระอันหนักอึ้งที่แบกไว้ กว่าจะได้มาไม่ใช่เรื่องง่ายเลยทีเดียว

....นอกจากภาระงานสอนอันหนักอึ้ง..ภาระงานอื่นก็มิใช่น้อย กล่าวได้ว่าเป็นอาชีพที่ไม่ง่ายเลยจริงๆ แต่ทว่าค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ได้ช่างน่าภูมิอกภูมิใจยิ่งนัก และด้วยสถานะที่ไม่ชัดเจนเช่นนี้จึงทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งจำเป็นต้องหาทางเลือกที่ดีกว่า ไปอยู่ในสถานที่ที่ให้ค่ามันสมองได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่า จนเกิดการสมองไหลเกิดขึ้น..เป็นเรื่องที่ไม่สามารถกล่าวโทษผู้ใดได้เลยจริงๆ

มนุษย์ ปุถุชน คนธรรมดาล้วนต้องการสิ่งที่ดีกว่าและชัดเจนด้วยกันทั้งสิ้น..การแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดจึงไม่ใช่สิ่งผิด

หลายครั้งหลายคราปฏิบัติหน้าที่ด้วยความคิดที่ว่าจะพัฒนาบ้านเรา..นึกถึงคำของเคเนดี้เสมอ (แม้จะไม่ใช่อเมริกันจ๋าก็ตามที) “Don’t ask what the country can do for you, ask what you can do for your country” แต่วันนี้คิดว่า..ควรถามในใจเสียงดังๆ ได้แล้วว่า..เราได้อะไรเปนการตอบแทน..นอกจากความสบายใจและความสุขที่เห็นลูกศิษย์ได้ดิบได้ดีมีเงินเดือนเยอะกว่า..เพราะทุกครั้งที่เติมน้ำมันรถและซื้อกาแฟสดกิน ไม่สามารถหยิบยื่นความสบายอกสบายใจ ความภาคภูมิใจและความสุขให้แทนธนบัตรในกระเป๋าสตางค์ได้เลยจริงๆ

เครดิต : http://www.facebook.com/notes/poy-rewanee-chaichaowarat/บุคคลที่สถานะไม่ชัดเจน/413089042049797

วันอังคารที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2555

หนังสือทวงถามความคืบหน้า ถึงเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา



































ตามที่คณะกรรมการ เครือข่ายพนักงานมหาวิทยาลัย ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการสำนักง​านการอุดมศึกษา (สกอ.) เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2555 เพื่อให้ สกอ. เป็นเจ้าภาพในการเชิญหน่วยงานที​่เกี่ยวข้องคือ ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยท​ุกกลุ่ม สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลางและรัฐมนตรีว่าการก​ระทรวงศึกษาธิการหรือตัวแทนนั้น​ ความคืบหน้าขณะนี้วันที่ 24 เมษายน 2555 เลขา สกอ. เกษียณหนังสือมอบ รองเลขาธิการ นพ.กำจร ทำหนังสือถึงที่ประชุมธิการบดีทุกกลุ่มมหาวิ​ทยาลัย เพื่อขอทราบสภาวะจริงเกี่ยวกับ เงินเดือนและสวัสดิการ ของพนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเท​ศ และให้ส่งข้อมูลนี้กลับถึง สกอ. ภายใน 30 วันเพื่อที่จะได้เชิญทุกฝ่ายที่​เกี่ยวข้องมาประชุมร่วมกันที่ สกอ. แกนนำปรึกษาหารือกันแล้วเราจะให​้เวลา สกอ. อีกครั้งหนึ่งเป็น เวลา 30 วัน และใช้ช่วงเวลาดังกล่าวในการจัด​ประชุมชี้แจงตามมหาวิทยาลัยต่าง​ๆ อย่างไรก็ดี เมื่อได้เลขหนังสือที่ออกจาก สกอ. ไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ตัวแทนเครือข่ายของแต่ละมหาวิทย​าลัยจะต้องช่วยไปตามเรื่องเองนะ​ครับ เพื่อให้เรื่องกลับมายัง สกอ. โดยเร็ว งานนี้ต้องช่วยกันนะครับ // ระวี

facebook เครือข่ายฯ ของสถาบันต่างๆ


วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2555

ขอเชิญร่วมระดมสมทบกองทุนเครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา


  • บัญชีเครือข่ายฯ โดยมีเหรัญญิก 3 ท่าน คือ
  1. อ.วิศรุต เพชรจำรัส
  2. ผศ.ไพบูลย์ บุบผา
  3. อ.ปรีชา สังเกตชน
  • แสดงบัญชี
  1. ณ วันที่ 23 เมษายน 2555
  2. ณ วันที่ 24 เมษายน 2555
  • รายนามผู้สมทบทุน
  1. ...  500 บาท 
  2. ...  1000 บาท
  3. ดร.เฟื่องอรุณ 1000 บาท




วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2555

ความเคลื่อนไหวการปรับฐานเงินเดือนตามมติ ครม. 15,000 บาท

การปรับฐานเงินเดือนตาม ประกาศ กพ. เรื่อง ฐานเงินเดือนใหม่ 1 มกราคม 2555

1. มทร.สุวรณณภูมิ ปรับฐานเงินเดือนใหม่ มกราคม 2555 โดยใช้ตัวคูณ สายวิชาการ ป.โท 1.4 ป.เอก 1.6 สายสนับสนุน ทุกระดับ 1.2
2. ม.เกษตรศาสตร์ ปรับฐานเงินเดือนใหม่ ตุลาคม 2553 และ เมษายน 2554 โดยใช้ตัวคูณ 1.5 ทุกระดับ ทุกสายงาน และตกเบิกย้อนหลังอีกด้วย

วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2555

แผนงานและกำหนดการประจำปี 2555



4 กุมภาพันธ์ 2555
ประชุมเครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา ครั้งที่ 1 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน จ.นครปฐม

28 กุมภาพันธ์ 2555
เครือข่ายฯ ยื่นจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช) เรื่อง ขอให้พิจารณาเงินเดือนและสวัสดิการของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ผ่านระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ของกระทรวง

12 มีนาคม 2555
เครือข่ายฯ ยื่นจดหมายถึงผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เรื่อง สถานะภาพของพนักงานมหาวิทยาลัย ผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์

30 มีนาคม 2555
ตัวแทนพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา 3 ท่าน ให้สัมภาษณ์นักข่าวไทยพีบีเอส ณ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จ.กรุงเทพฯ

31 มีนาคม 2555
เสวนาวิชาการ เรื่อง เหลี่ยวหลัง แลหน้า 13ปี พนักงานใสถาบันอุดมศึกษาไทย ณ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จ.กรุงเทพฯ

12 เมษายน 2555
ร่วมออกรายการสถานีประชาชน กรณีเสนอประเด็น ปัญหาพนักงานมหาวิทยาลัย ณ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จ.กรุงเทพฯ

20 เมษายน 2555
เครือข่ายฯ ยื่นจดหมายถึงเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (นายอภิชาติ จีระวุฒิ)

XX เมษายน 2555 (หลังสงกรานต์)
สกอ. เป็นเจ้าภาพเชิญผู้เกี่ยวข้อง อาทิ ประธานที่ประชุมอธิการบดี ทั้ง 3 แห่ง สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง กพอ กกอ กระทรวงศึกษาธิการ และตัวแทนพนักงานมหาวิทยาลัย ประชุมเพื่อหารือแนวทางปฏิบัติหรือเกณฑ์กลางในการบริหารงานบุคคล สำหรับพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา

1 พฤษภาคม 2555 (วันแรงงาน)
ยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 2 /ชุมนุมหน้ากระทรวงศึกษาธิการ ตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

8 พฤษภาคม 2555
รวมพลังพี่น้องพนักงานฯ ทั่วประเทศ ร่วมยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล จ.กรุงเทพฯ

พฤษภาคม - กันยายน 2555
 - เสวนาวิชาการ ครั้งที่ 2 ใน กทม. เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักถึงสิทธิของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา และให้เรื่องพนักงานมหาวิทยาลัยเป็นประเด็น "สาธารณะ"
- เสวนาสัญจรตามภาคต่างๆ ที่มีความพร้อม / ยื่นหนังสือร้องเรียนกับหน่วยงานต่างๆ
1.กรรมการสิทธิมนุยชนแห่งชาติ
2.ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา
3.ปปช.
4.กพ.
5.สานักงบประมาณ
6.อื่นๆ

เสวนาวิชาการ สัญจร การระดมความคิดเห็นเพื่อพัฒนาระ​บบพนักงานมหาวิทยาลัย
15 พ.ค. ม.ขอนแก่น
16 พ.ค. มรภ.อุดร  ณ ห้องประชุมสำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จ.อุดรธานี
18 พ.ค. มทร.อีสาน
30 พ.ค. มรภ.เชียงราย (น่าจะบวกเชียงใหม่ช่วงนี้ด้วย)
6 ก.ค. ม.ธรรมศาสตร์ (ยังไม่คอนเฟิร์ม)

23 ตุลาคม 2555
"ประท้วง" ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า (วิธีสุดท้าย)

ดาวน์โหลดเอกสารแผนงาน PDF

เปรียบเทียบการได้รับเงินเดือ​นระหว่างข้าราชการกับพนักงานมหา​วิทยาลัย


ขอบคุณภาพประกอบ Patrick Pratjayanin Wong

1. ข้าราชการได้ปรับเงินเดือนตามคุ​ณวุฒิที่ ก.พ. รับรอง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 53 (หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1008.1/ว 31 ลงวันที่ 17 กันยายน 2553) อาทิเช่น
1.1 วุฒิปริญญาตรี ปรับจาก 7940 เป็น 8700 (พนักงานมหาวิทยาลัยควรเป็น 8700*1.5 = 13050)
1.2 วุฒิปริญญาโท ปรับจาก 9700 เป็น 12000 (พนักงานมหาวิทยาลัยควรเป็น 12000*1.7 = 20400)
1.3 วุฒิปริญญาเอก ปรับจาก 13110 เป็น 16200 (พนักงานมหาวิทยาลัยควรเป็น 16200*1.7 = 27540)
*หมายเหตุ
1. ทั้งนี้อัตราในการจ่ายเงินเดือน​แรกบรรจุของพนักงานมหาวิทยาลัยข​ึ้นอยู่กับว่าสภามหาวิทยาลัยของ​แต่ละที่จะจ่ายอย่างไร ซึ่งแต่ละ ม. ไม่เหมือนกัน อีกทั้งบาง ม. ได้ปรับแล้ว และบาง ม. ยังไม่ได้ปรับ
2. มีการปรับชดเชยสำหรับผู้ที่บรรจ​ุก่อนวันที่ 1 ต.ค. 53 ด้วย (หากไม่ปรับตรงนี้ผู้ที่บรรจุให​ม่อาจจะมีเงินเดือนมากกว่าหรือเ​ท่ากับผู้ที่บรรจุก่อน)
3. หากข้าราชการที่มีเงินเดือนไม่ถ​ึง 11700 จะได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่​วคราวเพิ่มอีก 1500 แต่เมื่อรวมกับเงินเดือนแล้วจะต​้องไม่เกิน 11700 แต่ถ้าเงินเดือนรวมเงินเพิ่มการ​ครองชีพชั่วคราว 1500 แล้วไม่ถึง 8200 ก็ให้ได้รับเงินเพิ่มการครองชีพ​ชั่วคราวอีกจนถึง 8200 (ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วย การเบิกจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพ​ชั่วคราวของข้าราชการและลูกจ้าง​ประจำ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551

2. ข้าราชการได้ปรับ 5% ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 53 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 54 หลักการคิดคือเอาเงินเดือนที่ได​้รับก่อนวันที่ 1 เม.ย. 54 คุณด้วย 5% บวกเงินเดือนที่ได้รับก่อนวันที​่ 1 เม.ย. 54 แล้วปัดขึ้นเป็นจำนวนเต็มสิบ เช่น เงินเดือนที่ได้รับก่อนวันที่ 1 เม.ย. 54 เป็น 9530 วิธีคำนวณ คือ (9530*5%)+9530 = 10006.50 ปัดเป็นจำนวนเต็มสิบจะเท่ากับ 10010 ซึ่งมีผลทำให้มีการปรับโครงสร้า​งเงินเดือนข้าราชการใหม่ (เงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูง ตามกฎ ก.พ. ว่าด้วย เงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของข้าร​าชการ พ.ศ. 2554 และตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1008.1/ว 9 ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2554) เช่น
2.1 วุฒิปริญญาตรี ปรับจาก 8700 เป็น 9140 (พนักงานมหาวิทยาลัยควรเป็น 9140*1.5 = 13710)
2.2 วุฒิปริญญาโท ปรับจาก 12000 เป็น 12600 (พนักงานมหาวิทยาลัยควรเป็น 12600*1.7 = 21420)
2.3 วุฒิปริญญาเอก ปรับจาก 16200 เป็น 17010 (พนักงานมหาวิทยาลัยควรเป็น 17010*1.7 = 28920)
*หมายเหตุ สำหรับพนักงานมหาวิทยาลัยจะปรับ​หรือไม่ขึ้นอยู่กับสภามหาวิทยาล​ัย ซึ่งบาง ม. ได้ปรับแล้ว และบาง ม. ยังไม่ได้ปรับ

3. ข้าราชการได้ปรับเงินเดือนตามคุ​ณวุฒิที่ ก.พ. รับรอง (อีกครั้ง) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 55 (หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1008.1/ว 3 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2555) อาทิเช่น
3.1 วุฒิปริญญาตรี ปรับจาก 9140 เป็น 11680 (พนักงานมหาวิทยาลัยควรเป็น 11680*1.5 = 17520)
3.2 วุฒิปริญญาโท ปรับจาก 12600 เป็น 15300 (พนักงานมหาวิทยาลัยควรเป็น 15300*1.7 = 26010)
3.3 วุฒิปริญญาเอก ปรับจาก 17010 เป็น 19000 (พนักงานมหาวิทยาลัยควรเป็น 19000*1.7 = 32300)
*หมายเหตุ การจะปรับหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า​สภามหาวิทยาลัย

4. ข้าราชการได้รับเงินเพิ่มการครอ​งชีพชั่วคราว โดยมีการปรับเกณฑ์ขั้นต่ำขั้นสู​งของผู้ที่จะได้รับเงินเพิ่มการ​ครองชีพชั่วคราวเป็น 2 ช่วงระยะเวลา (ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วย การเบิกจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพ​ชั่วคราวของข้าราชการและลูกจ้าง​ประจำ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2551) ดังนี้
4.1 การได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั​่วคราว โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 54 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2554 ดังนี้
ผู้ที่ได้รับเงินเดือนไม่ถึง 12285 บาท ให้ได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั​่วคราวเพิ่มอีก 1500 บาท แต่เมื่อเงินเดือนรวมกับเงินเพิ​่มการครองชีพชั่วคราวจะต้องไม่เ​กิน 12285 บาท
เมื่อได้รับตามวรรคหนึ่งแล้วไม่​ถึง 8610 บาท ให้ได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั​่วคราวอีกจนถึง 8610 บาท
4.2 การได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั​่วคราว โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 55 เป็นต้นไป
ในกรณีที่ตำแหน่งของข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และลูกจ้างชั่วคราว(เงินงบประมา​ณ) ที่คณะกรรมการบริหารงานบุคคลกลา​งของข้าราชการแต่ละประเภทกำหนด หรือที่กระทรวงการคลังกำหนด ได้กำหนดให้คุณสมบัติเฉพาะสำ หรับตำแหน่งนั้นต้องใช้วุฒิการศ​ึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ให้ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งบรรจุหรือแต่งตั้งให้ดำรงตำ​แหน่งดังกล่าวที่มีเงินเดือนหรื​อค่าจ้างไม่ถึงเดือนละ 15000 ได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วค​ราวเพิ่มขึ้นจากเงินเดือนหรือค่​าจ้างอีกจนถึงเดือนละ 15000
ในกรณีที่ตำแหน่งของข้าราชการแล​ะลูกจ้างประจำที่คณะกรรมการบริห​ารงานบุคคลกลางของข้าราชการแต่ล​ะประเภทกำหนด หรือที่กระทรวงการคลังกำหนด ได้กำหนดให้คุณสมบัติเฉพาะสำหรั​บตำแหน่งนั้นต้องใช้วุฒิการศึกษ​าระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ให้ข้าราชการและลูกจ้างประจำซึ่​งบรรจุหรือแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน​่งดังกล่าวที่มีเงินเดือนหรือค่​าจ้างไม่ถึงเดือนละ 12285 บาท ให้ได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั​่วคราวเดือนละ 1500 บาท แต่เมื่อรวมกับเงินเดือนหรือค่า​จ้างแล้ว ต้องไม่เกินเดือนละ12285 บาท

สุดท้าย ลองเปรียบเทียบดูนะคะว่ามันเป็น​ไปตามมติ ครม. ปี 2542 หรือไม่ สำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย

ที่มาhttp://www.facebook.com/groups/121922094502682/permalink/413053542056201/

วันเสาร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2555

(ร่าง)ข้อตกลงเครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2555

ด้วยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ ได้บัญญัติเพื่อรับรองการบริหารงานบุคคลของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยให้เป็นไปตามข้อบังคับของสภาสถาบันอุดมศึกษา ทำให้เกิดแนวทางในการบริหารงานบุคคลของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาแตกต่างกัน ดังนั้น เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์อันเป็นประโยชน์ต่อการบริหารงานบุคคลของพนักงานในสถาบันอุดมศ​ึกษา จึงได้มีการรวมกลุ่มกันขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” และได้มีการประชุมเพื่อคัดเลือกคณะกรรมการและผู้ประสานงานของแต่ละสถาบัน เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๕ ณ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปแล้วนั้น เพื่อให้การดำเนินงานของเครือข่ายเป็นไปตามวัตถุประสงค์ จึงได้วางข้อตกลงไว้ดังนี้
ข้อ ๑. ข้อตกลงนี้เรียกว่า “ข้อตกลง ว่าด้วย เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.๒๕๕๑”
ข้อ ๒. ข้อตกลงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓. ในข้อตกลงนี้
“เครือข่าย” หมายความว่า เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการเครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา
“ประธานกรรมการ” หมายความว่า ประธานกรรมการเครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา
“พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” หมายความว่า พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในสถาบันอุดมศึกษา ทั้งที่เป็นส่วนราชการและเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ
ข้อ ๔. เครื่องหมายของเครือข่าย เป็นรูปสัญลักษณ์ตัวแทนพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา ๘ สี จับมือสัมพันธ์กันเป็นรูปวงกลม และมีข้อความปรากฏในวงกลม “เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” ปรากฏตามรูปแบบเครื่องหมายด้านล่าง
ข้อ ๕. สำนักงานของเครือข่าย ให้เป็นไปตามที่ประธานกรรมการกำหนด และให้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ของเฟสบุ๊ค (facebook) ชื่อ “เครือข่ายพนักงานมหาวิทยาลัย” เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารระหว่างพนักงาน
ข้อ ๖. ให้ประธานกรรมการรักษาการให้เป็นไปตามข้อตกลงนี้

หมวด ๑
วัตถุประสงค์
ข้อ ๗. เครือข่ายมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
(๑) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ ในการบริหารงานบุคคลของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา
(๒) เพื่อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคลของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาต่อผู้บริหาร
(๓) เพื่อส่งเสริมมิตรภาพ ความสามัคคี ผดุงเกียรติและศักดิ์ศรีของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา

หมวด ๒
สิทธิและหน้าที่
ข้อ ๘. พนักงานในสถาบันอุดมศึกษามีสิทธิและหน้าที่ ดังนี้
(๑) มีสิทธิใช้หรือประดับเครื่องหมายของเครือข่าย
(๒) มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของเครือข่ายต่อคณะกรรมการ
(๓) มีสิทธิเข้าร่วมประชุมและลงคะแนนเสียงตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงนี้ หรือในระเบียบ ที่คณะกรรมการกำหนด
(๔) มีสิทธิเป็นคณะกรรมการ
(๕) มีสิทธิเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ ที่คณะกรรมการจัดให้มีขึ้น
(๖) มีหน้าที่ปฏิบัติตามข้อตกลง ระเบียบ หรือประกาศต่างๆ ของเครือข่ายโดยเคร่งครัด
(๗) มีหน้าที่รักษาชื่อเสียงและเกียรติศักดิ์ของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา
(๘) มีหน้าที่เผยแพร่ชื่อเสียงของเครือข่ายให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
(๙) มีสิทธิและหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด

หมวด ๓
การดำเนินงานของเครือข่าย
ข้อ ๙. ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งทำหน้าที่ดำเนินงานของเครือข่าย ประกอบด้วย
(๑) ประธานกรรมการ
(๒) รองประธานกรรมการ
(๓) เลขานุการ
(๔) เหรัญญิก
(๕) นายทะเบียนและประชาสัมพันธ์
(๗) ฝ่ายกฎหมาย
(๘) กรรมการและผู้ประสานงานแต่ละสถาบัน

ข้อ ๑๐. ให้ที่ประชุมเครือข่ายประชุมเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการเลือกตั้งประธานเครือข่าย พร้อมจัดการเลือกตั้งผู้ดำรงตำแหน่งประธานเครือข่าย
เมื่อเลือกตั้งได้ประธานเครือข่ายแล้ว ให้ประธานเครือข่ายเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง
ข้อ ๑๑. ให้ประธานกรรมการแต่งตั้งกรรมการตำแหน่งอื่นๆ ตามข้อ ๙ โดยให้แต่งตั้งจากพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา ตามความจำเป็นและเหมาะสมในการดำเนินงานของเครือข่าย และเป็นผู้ประกาศแต่งตั้ง
ข้อ ๑๒. คณะกรรมการมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ ๑ ปีนับแต่วันที่มีประกาศแต่งตั้ง และในกรณีที่ประธานกรรมการพ้นจากตำแหน่งให้กรรมการอื่นๆ พ้นจากตำแหน่งด้วย
คณะกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับเลือกตั้งหรือได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้
ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการว่างลงก่อนครบวาระ ให้ประธานกรรมการแต่งตั้งกรรมการใหม่ แทนตำแหน่งที่ว่างนั้น และให้กรรมการผู้นั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน
ข้อ ๑๓. ในกรณีที่คณะกรรมการอยู่ในตำแหน่งครบวาระแล้วแต่ยังไม่ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ให้คณะกรรมการที่ครบวาระนั้นปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่

ข้อ ๑๔. นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) พ้นจากการเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา
(๔) ที่ประชุมเครือข่ายมีมติให้ออก
ข้อ ๑๕. คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
(๑) ดำเนินงานของเครือข่ายให้เป็นไปตามข้อตกลงและวัตถุประสงค์ของเครือข่าย
(๒) วางระเบียบ หรือออกประกาศต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของเครือข่าย
(๓) แต่งตั้งบุคคล หรือคณะบุคคล เพื่อเป็นที่ปรึกษาหรือเป็นคณะทำงาน หรือคณะอนุกรรมการ อยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคระกรรมการที่แต่งตั้ง
(๔) เรียกประชุมพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา
(๕) หน้าที่อื่นๆ ตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงนี้
ข้อ ๑๖. ให้คณะกรรมการจัดการประชุมเพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการดำเนินงานของเครือข่ายและพบปะกันระหว่างพนักงาน อย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง
ในการประชุม ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในการประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่ประธานกรรมการ
การลงมติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมากในที่ประชุม โดยกรรมการ ๑ คน มี ๑ เสียงในการลงคะแนน
ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีก ๑ เสียงเป็นเสียงชี้ขาด
ในการประชุมต้องมีรายงานการประชุมเป็นลายลักษณ์อักษร ถ้ามีความเห็นแย้งให้บันทึกความเห็นแย้งพร้อมทั้งเหตุผลไว้ในรายงานการประชุม และถ้ากรรมการฝ่ายข้างน้อยเสนอความเห็นแย้งเป็นหนังสือ ก็ให้บันทึกความเห็นแย้งนั้นไว้ด้วย

หมวด ๔
การเงินและบัญชี
ข้อ ๑๗. การเงิน บัญชี และทรัพย์สิน ให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ และให้นำฝากไว้ ในธนาคาร หรือสหกรณ์ออมทรัพย์ ในนาม “เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา”
ข้อ ๑๘. การเบิกถอนเงินให้ประธานกรรมการหรือผู้ทำการแทน ลงลายมือชื่อร่วมกับเหรัญญิกหรือเลขานุการ แล้วแต่กรณี
ข้อ ๑๙. ให้ประธานกรรมการมีอำนาจเบิกถอนเงินของเครือข่ายได้ไม่เกินครั้งละ ๓๐,๐๐๐ บาท
(สามหมื่นบาทถ้วน) กรณีเกินกว่า ๓๐,๐๐๐ (สามหมื่นบาทถ้วน) ต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการก่อน
ข้อ ๒๐. เหรัญญิกมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
(๑) เบิกจ่ายเงินและดูแลรักษาเงินของเครือข่ายให้อยู่ในสภาพปลอดภัยและจัดการด้านการเงินของเครือข่าย ตามวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อตกลงนี้และตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
(๒) จัดทำบัญชีและรายงานฐานะทางการเงินของเครือข่าย เสนอต่อคณะกรรมการตามกำหนดเวลาที่คณะกรรมการกำหนด
(๓) จัดทำหลักฐานการรับ-จ่ายเงินเป็นลายลักษณ์อักษรโดยต้องมีลายมือชื่อผู้รับผิดชอบ ลงนามไว้ด้วย
(๔) หน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

หมวด ๕
การแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลง
ข้อ ๒๑. การแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลง จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมเครือข่าย และให้มีผลใช้บังคับทันที

หมวด ๖
การเลิกเครือข่าย
ข้อ ๒๒. การเลิกเครือข่าย ให้กระทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมเครือข่าย
ข้อ ๒๓. เมื่อเครือข่ายต้องเลิกไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม ทรัพย์สินของเครือข่ายที่เหลืออยู่หลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้บริจาคให้องค์กรสาธารณะตามมติที่ประชุมเครือข่าย

หมวด ๗
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๒๔. ให้ประธานเครือข่ายคนปัจจุบัน ทำหน้าที่ประธานกรรมการตามข้อตกลงนี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการตามข้อ ๑๑ โดยให้ดำเนินการแต่งตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
ข้อ ๒๕. ให้กิจกรรมหรือการดำเนินการที่ได้ดำเนินการไปแล้ว หรืออยู่ระหว่างดำเนินการ ก่อนข้อตกลงนี้ใช้บังคับ เป็นกิจกรรมหรือการดำเนินการตามข้อตกลงนี้


ประกาศ ณ วันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๕

(รองศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สุมิตร สุวรรณ)
ประธานเครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา



วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555

ข้อเสนอสำหรับการบริหารงานบุคคล สำหรับพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา

1. เร่งรัดติดตามให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ เพื่อเป็นค่าจ้าง “พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” ในอัตรา 1.5 - 1.7 เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2555
1) วุฒิปริญญาตรี 11,680x1.5/1.7 = 17,520/19,856 บาท
2) วุฒิปริญญาโท 15,300x1.5/1.7 = 22,950/26,010 บาท
3) วุฒิปริญญาเอก 19,000x1.5/1.7 = 28,500/32,300 บาท

2. เร่งรัดติดตามให้สถาบันต่างๆ ปรับค่าจ้าง ร้อยละ 5 ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายาน 2554

3. เสนอของบประมาณจากรัฐบาล เพื่อปรับค่าจ้าง “พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” ทั้งระบบให้สอดคล้องกับข้อ 1

4. กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ติดตามและกำดูแลให้ทุกมหาวิทยาลัยจ้าง “พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” ตามงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร หากจำเป็นต้องตัดไว้ส่วนหนึ่งสำหรับจัดสวัสดิการควรดำเนินเหมือนกันทุกมหาวิทยาลัย

5. กำหนดสวัสดิการและผลประโยชน์เกื้อกูลต่างๆ ของ “พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” โดยต้องไม่น้อยกว่าของระบบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยที่เคยได้รับ โดยอาจปรับเปลี่ยนรูปแบบ ได้แก่
1) การรักษาพยาบาลตนเอง บิดามารดา คู่สมรสและบุตร โดยการยกเลิก “ระบบประกันสังคม” และจัดการสวัสดิการเอง เช่น การประกันสุขภาพกลุ่ม การประกันชีวิต ตั้งกองทุน
2) การตรวจสุขภาพประจำปี
3) การลาศึกษา
4) เงินประจำตำแหน่งทางวิชาการ อีก 1 เท่า
5) เงินตอบแทนพิเศษประจำปี (โบนัส)
6) การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
7) เครื่องราชอิสริยาภรณ์

6. กำหนดสัญญาจ้างระหว่างทดลองงาน 1 ปี ส่วนสัญญาต่อไปตลอดชีพ แต่สามารถยกเลิกสัญญาจ้างได้หากไม่ผ่านการประเมิน โดยกำหนดให้มีระบบและกลไก “การประเมิน” ที่เป็นธรรม เพื่อสร้างความมั่นคงและประสิทธิภาพในการทำงาน

7. จัดให้มี “สภาพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” ซึ่งเป็นตัวแทนของฝ่ายลูกจ้าง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการบริหารงานบุคคลของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะในการจ้างและการเลิกจ้าง

8. ปรับลูกจ้างชั่วคราวและอาจารย์อัตราจ้าง ให้เป็น “พนักงานมหาวิทยาลัยเงินรายได้”

9. จัดตั้งคณะทำงานโดยมีตัวแทนจากพนักงาน เพื่อแก้ พรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 เป็น “พรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนและพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.......”

10. หากไม่สามารถดำเนินการได้ขอเปลี่ยนสถานภาพกลับเป็น “ข้าราชการ”

ที่มา http://www.facebook.com/groups/121922094502682/doc/410257572335798/

อัตราเงินเดือนตามวุฒิการศึกษาที่ ก.พ. กำหนด

เริ่มต้นจากการที่ มหาวิทยาลัย จ้างพนักงานด้วยอัตราเงินเดือนที่อิงจาก ก.พ. (ดังปรากฎในเอกสารคู่มือพนักงาน ข้อ ๑.๑
ผมขออนุญาตรีวิว ที่มาที่ไปดังนี้

๑. กำหนดอัตราเงินเดือนแบบช่วงตามคุณวุฒิ ที่ ก.พ. รับรอง เพื่อการบรรจุและแต่งตั้งผู้เข้ารับราชการตามประเภทและระดับตำแหน่ง และให้ได้รับเงินเดือนตามคุณวุฒิ ดังนี้
๑.๑ การบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๔ (ห้า-สี่) ให้ได้รับเงินเดือนในอัตรราใหม่
ก. คุณวุฒิ ปริญญาตรี ๔ ปี (ในประเทศ)
อัตราเงินเดือนเดิม (ก่อน ๑ ต.ค. ๒๕๕๓) ฐานเงินเดือน ๗,๙๔๐ บาท
อัตราเงินเดือนปรับ (๑) ตั้งแต่ ๑ ต.ค. ๒๕๕๓ เป็นต้นไป เริ่ม ๘,๗๐๐ บาท
อัตราเงินเดือนปรับ (๒) ใช้บังคับตั้งแต่ ๑ เม.ย. ๒๕๕๔ เริ่ม ๘,๗๐๐ - ๘,๙๗๐ บาท
อัตราเงินเดือนปรับ (๓) ใช้บังคับตั้งแต่ ๑ ต.ค. ๒๕๕๔ เริ่ม ๘,๗๐๐ - ๙,๒๓๐ บาท
อัตราเงินเดือนปรับ (๔) ใช้บังคับตั้งแต่ ๑ เม.ย. ๒๕๕๕ (ห้า-ห้า) เริ่ม ๘,๗๐๐ - ๙,๕๗๐ บาท

ข. คุณวุฒิ ปริญญาตรี ๕ ปี (ในประเทศ)
อัตราเงินเดือนเดิม (ก่อน ๑ ต.ค. ๒๕๕๓) ฐานเงินเดือน ๘,๗๐๐ บาท
อัตราเงินเดือนปรับ (๑) ตั้งแต่ ๑ ต.ค. ๒๕๕๓ เป็นต้นไป เริ่ม ๙,๔๖๐ บาท
อัตราเงินเดือนปรับ (๒) ใช้บังคับตั้งแต่ ๑ เม.ย. ๒๕๕๔ เริ่ม ๙,๔๖๐ - ๙,๗๕๐ บาท
อัตราเงินเดือนปรับ (๓) ใช้บังคับตั้งแต่ ๑ ต.ค. ๒๕๕๔ เริ่ม ๙,๔๖๐ - ๑๐,๐๓๐ บาท
อัตราเงินเดือนปรับ (๔) ใช้บังคับตั้งแต่ ๑ เม.ย. ๒๕๕๕ (ห้า-ห้า) เริ่ม ๙,๔๖๐ - ๑๐,๔๑๐ บาท

ค. คุณวุฒิ ปริญญาโท (ในประเทศ)
อัตราเงินเดือนเดิม (ก่อน ๑ ต.ค. ๒๕๕๓) ฐานเงินเดือน ๙,๗๐๐ บาท
อัตราเงินเดือนปรับ (๑) ตั้งแต่ ๑ ต.ค. ๒๕๕๓ เป็นต้นไป เริ่ม ๑๒,๐๐๐ บาท
อัตราเงินเดือนปรับ (๒) ใช้บังคับตั้งแต่ ๑ เม.ย. ๒๕๕๔ เริ่ม ๑๒,๐๐๐ - ๑๒,๓๖๐ บาท
อัตราเงินเดือนปรับ (๓) ใช้บังคับตั้งแต่ ๑ ต.ค. ๒๕๕๔ เริ่ม ๑๒,๐๐๐ - ๑๒,๗๒๐ บาท
อัตราเงินเดือนปรับ (๔) ใช้บังคับตั้งแต่ ๑ เม.ย. ๒๕๕๕ (ห้า-ห้า) เริ่ม ๑๒,๐๐๐ - ๑๓,๒๐๐ บาท

ง. คุณวุฒิ ปริญญาเอก (ในประเทศ)
อัตราเงินเดือนเดิม (ก่อน ๑ ต.ค. ๒๕๕๓) ฐานเงินเดือน ๑๓,๑๑๐ บาท
อัตราเงินเดือนปรับ (๑) ตั้งแต่ ๑ ต.ค. ๒๕๕๓ เป็นต้นไป เริ่ม ๑๖,๒๐๐ บาท
อัตราเงินเดือนปรับ (๒) ใช้บังคับตั้งแต่ ๑ เม.ย. ๒๕๕๔ เริ่ม ๑๖,๒๐๐ - ๑๖,๖๙๐ บาท
อัตราเงินเดือนปรับ (๓) ใช้บังคับตั้่งแต่ ๑ ต.ค. ๒๕๕๔ เริ่ม ๑๖,๒๐๐ - ๑๗,๑๘๐ บาท
อัตราเงินเดือนปรับ (๔) ใช้บังคับตั้งแต่ ๑ เม.ย. ๑๕๕๕ (ห้า-ห้า) เริ่ม ๑๖,๒๐๐ - ๑๗,๘๒๐ บาท

อ้างอิงจาก : http://www.ocsc.go.th/ocsccms/uploads/circular/ccl0000537.pdf

ต่อมา ก.พ. โดยมติคณะรัฐมตรีให้ปรับเงินเพิ่มจากฐานเงินเดือนข้างต้น อีก ร้อยละ ๕ (หนังสือที่ นร ๑๐๐๘.๑ / ว ๘ ด่วนทีสุด เรื่อง การปรับเงินเดือนเข้าสู่บัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการพลเรือนสามัญ ลงวันที่ ๒๘ เม.ย. ๒๕๕๔) ประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกาการปรับเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๔ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๔ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๔

ต่อมา ได้มีมติให้ปรับเงินเพิ่มขึ้นอีก ด้วยอัตราคูณ ๑.๓ (สายสนับสนุน) และ ๑.๕ (สายวิชาการ)
รวมแล้ว ได้มีการปรับเงินเดือนตามกฎหมายมาแล้ว ถึง ๓ ครั้ง โดยครั้งนี้อยู่ในระยะที่ ๓ (ตั้งแต่ ๑ ต.ค. ๒๕๕๔)
ถ้าเราลองคำนวณเงินที่ปรับดูแล้ว จะได้ดังนี้

ปริญญาโท (สายสนับสนุน)
อัตราเงินเดือนฐาน ๙,๗๐๐ บาท ปรับเป็น ๑๒,๐๐๐ ส่วนต่างเพิ่ม คือ ๒,๓๐๐ บาท (หายไปต่อเดือน)
๑๒,๐๐๐ ปรับเพิ่ม ๕% เท่ากับ ๖๐๐ บาท ต่อเดือน รวมรับ ๑๒,๖๐๐ บาท
๑๒,๖๐๐ บาท คูณ ๑.๓ เท่ากับ ๑๖,๓๘๐ ต่อเดือน (ซึ่งควรได้รับในปัจจุบัน)

ปริญญาโท (สายวิชาการ)
อัตราเงินเดือนฐาน ๙,๗๐๐ บาท ปรับเป็น ๑๒,๐๐๐ ส่วนต่างเพิ่ม คือ ๒,๓๐๐ บาท (หายไปต่อเดือน)
๑๒,๐๐๐ ปรับเพิ่ม ๕% เท่ากับ ๖๐๐ บาท ต่อเดือน รวมรับ ๑๒,๖๐๐ บาท
๑๒,๖๐๐ บาท คูณ ๑.๕ เท่ากับ ๑๘,๙๐๐ ต่อเดือน (ซึ่งควรได้รับในปัจจุบัน)

ปริญญาตรี ๔ ปี
อัตราเงินเดือนฐาน ๗,๙๔๐ บาท ปรับเป็น ๘,๗๐๐ ส่วนต่างเพิ่ม คือ ๗๖๐ บาท (หายไปต่อเดือน)
๘,๗๐๐ ปรับเพิ่ม ๕% เท่ากับ ๔๓๕ บาท ต่อเดือน รวมรับ ๙,๑๓๕ บาท
๙,๑๓๕ บาท คูณ ๑.๓ เท่ากับ ๑๑,๘๗๕.๕๐ ต่อเดือน (ซึ่งควรได้รับในปัจจุบัน)

หมายเหตุ - กรณีปรับเงินขึ้นแล้ว เศษไม่ถึง ๑๐ บาท ให้ปรับเป็น ๑๐ บาท เช่น ป.ตรี ๙,๑๓๕ ก็ปรับเป็น ๙,๑๔๐ บาท)

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ส่วนอ้างอิง

๑. หนังสือ ก.พ. ที่ นร ๑๐๐๘.๓/ว ๑๔ เรื่อง การรับรองคุณวุฒิพร้อมด้วยอัตราเงินเดือน ลงวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๑ มีผลให้ได้รับเงินเดือนในอัตรา
คุณวุฒิ ปริญญาตรี ๗,๙๔๐ บาท
คุณวุฒิ ปริญญาโท ๙,๗๐๐ บาท
คุณวุฒิ ปริญญาเอก ๑๓,๑๑๐ บาท
(http://www.ocsc.go.th/ocsccms/uploads/circular/ccl0000374.pdf)

๒. การกำหนดอัตราเงินเดือนสำหรับคุณวุฒิที่ ก.พ. รับรอง ลงวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๓ อัตราเงินเดือนใหม่ มีผลตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ (ระยะที่ ๑) และมีผลต่อการปรับอัตราเงินเดือนไปอีก ๓ ระยะ คือ
ระยะที่ ๒ ตั้งแต่วันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๔
ระยะที่ ๓ ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๔
ระยะที่ ๔ ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๕ เป็นต้นไป
** โดยเป็นอัตราฐานเงินเดือนที่ จะถูกนำไปปรับเพิ่มตามมติคณะรัฐมนตรีในครั้งต่อ ๆ ไป

เอกสารบังคับแนบ
ก. หนังสือ ก.พ. ที่ นร ๑๐๐๘.๓/ว ๑๔ เรื่อง การรับรองคุณวุฒิพร้อมด้วยอัตราเงินเดือน ลงวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๑
ข. หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร ๑๐๐๔.๓/๑๗๙ ลงวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๓
ค. หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร ๑๐๐๔.๓/๑๙๙-๒๐๐ ลงวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๓
(http://www.ocsc.go.th/ocsccms/uploads/circular/ccl0000537.pdf)

๓. หนังสือ ก.พ. ที่ นร ๑๐๐๘.๑/ว ๘ เรื่อง การปรับเงินเดือนเข้าสู่บัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการพลเรือน ลงวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๔ ให้ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ ๕ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๔
เอกสารบังคับแนบ
ก. พระราชกฤษฎีกาการปรับเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ. ๒๕๕๔
ข. กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
(http://www.ocsc.go.th/ocsccms/uploads/circular/ccl0000600.pdf)

ที่มา http://www.facebook.com/groups/121922094502682/doc/285842758110614/

วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2555

ข่าวเสวนาวิชาการ เรื่อง "เหลียวหลัง แลหน้า 13 ปี พนักงานมหาวิทยาลัยในสถาบันอุดมศึกษาไทย"

 

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 เวลา 09.00 น. ณ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองศาสตราจารย์ นาวาโท ดร. สุมิตร สุวรรณ ประธานเครือข่ายฯ และสมาชิกพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ได้จัดการประชุมเสวนาวิชาการ เรื่อง "เหลียวหลัง แลหน้า 13 ปี พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาไทย" โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานเปิดพิธีและปฐกถาพิเศษ เรื่อง "ระบบพนักงานมหาวิทยาลัย กับการพัฒนาคุณภาพอุดมศึกษาไทย" จากนั้นได้เริ่มการเสวนา โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ (ศาสตราภิชาน) อดีตเลขาธิการ สกอ. เป็นผู้นำเสวนาท่านที่ 1 คุณขจร จิตสุขุมมงคล ตัวแทนเลขาธิการ สกอ. เป็นผู้นำเสวนาท่านที่ 2 และ รองศาสตราจารย์ นาวาโท ดร.สุมิตร สุวรรณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ตัวแทนพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา เป็นผู้นำเสวนาท่านที่ 3 โดยมี อาจารยย์ประทัย พิริยะสุยะวงศ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เป็นผู้ดำเนินรายการ

ท้ายนี้ในนามเครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา ขอขอบพระคุณท่านวิทยากร ท่านนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ ดร.เฟื่องอรุณ ปรีดีดิลก และนิสิตนักศึกษาทุกคน ทั้งการต้อนรับ การจัดงาน ตลอดจนสถานที่ในการจัดงานครั้งนี้ให้ลุล่วงไปด้วยอย่างดียิ่ง

ดูภาพเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
ชมคลิปวีดีโอ 1
ชมคลิปวีดีโอ 2
ชมคลิปวีดีโอ 3
ชมคลิปวีดีโอ ฉบับเต็ม HD
รายงานเสวนาวิชาการฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
คลิปวีดีโอข่าวไทยพีบีเอส 30 มี.ค. 2555
พนักงานมหาวิทยาลัยร้องเรียนไทยพีบีเอส สวัสดิการที่เคยได้หายไป - ไทยพีบีเอส
การเปลี่ยนสถานะจาก "ข้าราชการ" สู่ "ลูกจ้างมหาวิทยาลัย" บั่นทอนกำลังใจ-คุณภาพการเรียนการสอน - ไทยพีบีเอส
พนง.40มหา′ลัยร้องรัฐบาลไม่ได้รับความเป็นธรรม คุณภาพชีวิตตกต่ำ ขอสิทธิเท่า"ข้าราชการ" - มติชน
กกอ.แจงเหตุพนง.วืดขึ้นเงิน5% มหา'ลัยไม่ยอมควัก'สำรองจ่าย' - มติชน
เหลียวหลังแลหน้า 13 ปี พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา - ประชาไท
ศธ.วอนมหา'ลัยควักก่อนเงินพนง.-ยันจ่ายคืนปี'56 - มติชน

วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555

แนวทางการดำเนินงาน “เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา”

จากการประชุมตัวแทนครั้งที่ 1/2555 วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2555 และการจัดเสวนา วันเสาร์ที่ 31 มี.ค.55 ได้กำหนดวัตถุประสงค์หลัก คือ การพัฒนาอาชีพให้มีความมั่นคงเข้มแข็ง ดำรงไว้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีในวิชาชีพ เพื่อคุณภาพการศึกษาไทย โดยมีแนวทางการดำเนินงาน ดังต่อไปนี้

1. ยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา หรือ กพอ.) โดยมี 2 ประเด็นหลักๆ ดังนี้
ประเด็นที่ 1 ให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณขั้นต่ำสำหรับพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา 1.5 - 1.7 เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2555
ประเด็นที่ 2 ให้กำหนดหรือบังคับมหาวิทยาลัยจัดสวัสดิการและผลประโยชน์เกื้อกูลต่างๆ ให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยโดยให้เทียบเท่ากับข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ได้แก่ การรักษาพยาบาล เงินประจำตำแหน่งทางวิชาการ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และความมั่นคงในการทำงาน
* ยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทางการบริหารพนักงานมหาวิทยาลัยต่อประธาน กพอ. เพื่อให้กำกับดูแลมหาวิทยาลัยต่างๆ

2. จัดตั้งเครือข่ายพนักงานในส่วนภูมิภาค โดยใช้ชื่อว่า “เครือข่ายพนักงานมหาวิทยาลัย (ระบุชื่อมหาวิทยาลัย)” และกำหนดให้มีผู้ประสานงานหลักในแต่ละมหาวิทยาลัย เพื่อความเข้มแข็งและทำงานร่วมกับ “เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” ส่วนกลาง

3. ทำเรื่องของพนักงานมหาวิทยาลัยให้เป็นประเด็นสาธารณะ โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจกับพนักงานมหาวิทยาลัยและผู้บริหาร รวมทั้งขยายแนวคิดให้กว้างขวางและสร้างความตระหนักแก่คนในสังคม ดังนี้
3.1 การจัดเสวนาวิชาการ ครั้งที่ 1 จุฬาฯ วันที่ 31 มี.ค.55
3.2 การจัดเสวนาวิชาการ ครั้งที่ 2 ม.ธรรมศาสตร์/มรภ.สวนสุนันทา วันที่ .... พ.ค.55
3.3 การจัดเสวนาวิชาการ ครั้งที่.... สัญจรตามภาคต่างๆ ที่พร้อม
3.4 การออกรายการข่าว สถานีโทรทัศน์ Thai PBS วันที่ 30 มี.ค.55
3.5 การออกรายการสถานีประชาชน สถานีโทรทัศน์ Thai PBS วันที่ 12 เม.ย.55
3.6 ลงข่าวในหนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 1 เม.ย.55
3.7 การเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์มติชน (ส่งไปแล้ว)

4. รวบรวบรายชื่อสมาชิกจากมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยจัดทำเป็นเอกสารและทำเว็บไซต์ เพิ่มเติมจาก facebook (หากจะเสนอกฎหมายต้องรวบรวมรายชื่อไม่น้อยกว่า 10,000 คน )

5. แก้ไข พรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 เป็น “พรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนและพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.......” หรือจัดทำร่างพระราชบัญญัติระเบียบพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยดูตัวอย่างจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

6. แนวทางสุดท้ายหากปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข คือ การชุมนุมประท้วงเรียกร้อง “สิทธิ” (ซึ่งต้องมีแนวร่วมมากพอสมควร)

ทั้งนี้ เพื่อความเป็นเอกภาพและความเข้มแข็งของเครือข่าย การดำเนินกิจกรรมทั้งหมดขอให้ใช้ชื่อ “เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” โดยให้ผู้ประสานงานหลักในแต่ละมหาวิทยาลัยลงนามในเอกสารเองได้เลย โดยใช้ชื่อว่า “ผู้ประสานงานเครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา”

วันเสาร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2555

จดหมายถึงรัฐมนตรี ศธ. (ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช)


เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา
วันที่           กุมภาพันธ์  ๒๕๕๕
เรื่อง   ขอให้พิจารณาเงินเดือนและสวัสดิการของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
เรียน   ฯพณฯ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๕ โดยปรับเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุวุฒิปริญญาตรี ๑๕,๐๐๐ บาท ปริญญาโท ๑๗,๕๐๐ และปริญญาเอก ๒๑,๐๐๐ บาท ไปแล้วนั้น ซึ่งยังไม่ได้ครอบคลุมถึงพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ยังไม่ได้ออกนอกระบบราชการ จำนวน ๖๕ สถาบัน โดยมีจำนวนหลายหมื่นคน
อนึ่ง มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๒ ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณ
เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการจ้างบุคลากรสาย ก. ในอัตราข้าราชการแรกบรรจุ ซึ่งเป็นอัตราปัจจุบันบวกด้วยอัตราเพิ่มอีกร้อยละ ๗๐ และให้จ้างบุคลากรสาย ข. และสาย ค. ในอัตราข้าราชการแรกบรรจุ ซึ่งเป็นอัตราปัจจุบัน
บวกด้วยอัตราเพิ่มอีกร้อยละ ๕๐ จนกว่าจะปรับเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลเร่งพิจารณาใน ๒ ประเด็นต่อไปนี้
. ให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อเป็นค่าจ้างขั้นต่ำให้กับพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ อีกร้อยละ ๗๐ และ ๕๐ เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๕
๒. ให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษากำกับดูแลการจัดสวัสดิการและผลประโยชน์เกื้อกูลต่างๆ ของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ให้เทียบเท่ากับข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ได้แก่ การรักษาพยาบาล เงินประจำตำแหน่งทางวิชาการ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ความมั่นคงในการทำงาน และการเลิกจ้างงานอย่างไม่เป็นธรรม
ทั้งนี้ เพื่อการพัฒนาอาชีพให้มีเกียรติศักดิ์ศรี มีความมั่นคง มีเงินเดือนและสวัสดิการที่ดี สามารถจูงใจให้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถสูงและเป็นคนดีเข้ามาปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย มิเช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยในอนาคต
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

                                                                    ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
                                                              เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา


หลักฐานเกี่ยวกับการดำเนินงานของเครือข่าย


ความเป็นมาของเครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา


1.  ชื่อโครงการ    โครงการจัดตั้งเครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา
2.  ผู้รับผิดชอบโครงการ      คณะกรรมการเครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา
3.  หลักการและเหตุผล

พนักงานมหาวิทยาลัยได้ถูกนำมาใช้แทนระบบ ข้าราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2542  ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนาอุดมศึกษาที่ต้องการให้เปลี่ยนสถานภาพการบริหารเป็น มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องความคล่องตัวในการบริหารและปัญหาสมองไหลที่ไม่สามารถดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถสูงเข้ามาทำงานได้ โดยการให้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 70 และ 50 ของอัตราข้าราชการแรกบรรจุในปัจจุบัน รวมทั้งจัดสวัสดิการและผลประโยชน์เกื้อกูลต่างๆ ไม่น้อยกว่าระบบราชการที่เคยได้รับ 

การเปลี่ยนสถานภาพดังกล่าวได้ล่วงเลยมาเวลา 13 ปี มีสถาบันการศึกษาที่ได้เปลี่ยนสถานภาพการบริหารเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ จำนวน 14 สถาบัน ยังคงเหลืออีก 65 สถาบัน ในขณะที่บุคลากรที่เข้ามาทำงานใหม่ได้เปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหมดแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงพนักงานมหาวิทยาลัยกลับไม่ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการตามหลักการที่ได้กล่าวกันไว้ เช่น การรักษาพยาบาลต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคม ซึ่งเป็นการทำลายเกียรติยศและศักดิ์ศรีของข้าราชการในมหาวิทยาลัย และอาจเกิดผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน การทุ่มเทในการปฏิบัติหน้าที่ ความจงรักภักดีต่อองค์กร และคุณภาพของอุดมศึกษาในระยะยาว จึงได้รวมกลุ่มกันและได้จัดประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2555 โดยได้ตกลงใช้ชื่อกลุ่มว่า เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” 

4.  วัตถุประสงค์
4.1 เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในเรื่องสวัสดิการและสิทธิประโยชน์เกื้อกูลต่าง ๆ ของพนักงานมหาวิทยาลัย
4.2 เพื่อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาเรื่องสวัสดิการและสิทธิประโยชน์เกื้อกูลต่าง ๆ ของพนักงานมหาวิทยาลัยต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัย

5.  สมาชิกเครือข่าย
               พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ

6.  สถานที่ติดต่อและสมัครเป็นสมาชิก

7  ที่ปรึกษาเครือข่ายฯ
7.1 ศาสตราจารย์ ดร.ภาวิช ทองโรจน์
7.2  ศาสตราจารย์ ดร.สุมนต์ สกลไชย

7.3 ผศ.จริยา หาสิตพานิชกุล

8.   ผลที่คาดว่าจะได้รับ
8.1 เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา
8.2 การพัฒนาระบบพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา
8.3 คุณภาพการศึกษาไทย

9. สัญลักษณ์






ข่าวการศึกษา เกี่ยวกับพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา

เงินเดือน ค่าครองชีพ เกียรติและศักดิ์ศรี



มหาวิทยาลัยนอกระบบ

รายงานการวิจัย