วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2555

ข่าวเสวนาวิชาการ เรื่อง "เหลียวหลัง แลหน้า 13 ปี พนักงานมหาวิทยาลัยในสถาบันอุดมศึกษาไทย"

 

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 เวลา 09.00 น. ณ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองศาสตราจารย์ นาวาโท ดร. สุมิตร สุวรรณ ประธานเครือข่ายฯ และสมาชิกพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ได้จัดการประชุมเสวนาวิชาการ เรื่อง "เหลียวหลัง แลหน้า 13 ปี พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาไทย" โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานเปิดพิธีและปฐกถาพิเศษ เรื่อง "ระบบพนักงานมหาวิทยาลัย กับการพัฒนาคุณภาพอุดมศึกษาไทย" จากนั้นได้เริ่มการเสวนา โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ (ศาสตราภิชาน) อดีตเลขาธิการ สกอ. เป็นผู้นำเสวนาท่านที่ 1 คุณขจร จิตสุขุมมงคล ตัวแทนเลขาธิการ สกอ. เป็นผู้นำเสวนาท่านที่ 2 และ รองศาสตราจารย์ นาวาโท ดร.สุมิตร สุวรรณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ตัวแทนพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา เป็นผู้นำเสวนาท่านที่ 3 โดยมี อาจารยย์ประทัย พิริยะสุยะวงศ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เป็นผู้ดำเนินรายการ

ท้ายนี้ในนามเครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา ขอขอบพระคุณท่านวิทยากร ท่านนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ ดร.เฟื่องอรุณ ปรีดีดิลก และนิสิตนักศึกษาทุกคน ทั้งการต้อนรับ การจัดงาน ตลอดจนสถานที่ในการจัดงานครั้งนี้ให้ลุล่วงไปด้วยอย่างดียิ่ง

ดูภาพเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
ชมคลิปวีดีโอ 1
ชมคลิปวีดีโอ 2
ชมคลิปวีดีโอ 3
ชมคลิปวีดีโอ ฉบับเต็ม HD
รายงานเสวนาวิชาการฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
คลิปวีดีโอข่าวไทยพีบีเอส 30 มี.ค. 2555
พนักงานมหาวิทยาลัยร้องเรียนไทยพีบีเอส สวัสดิการที่เคยได้หายไป - ไทยพีบีเอส
การเปลี่ยนสถานะจาก "ข้าราชการ" สู่ "ลูกจ้างมหาวิทยาลัย" บั่นทอนกำลังใจ-คุณภาพการเรียนการสอน - ไทยพีบีเอส
พนง.40มหา′ลัยร้องรัฐบาลไม่ได้รับความเป็นธรรม คุณภาพชีวิตตกต่ำ ขอสิทธิเท่า"ข้าราชการ" - มติชน
กกอ.แจงเหตุพนง.วืดขึ้นเงิน5% มหา'ลัยไม่ยอมควัก'สำรองจ่าย' - มติชน
เหลียวหลังแลหน้า 13 ปี พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา - ประชาไท
ศธ.วอนมหา'ลัยควักก่อนเงินพนง.-ยันจ่ายคืนปี'56 - มติชน

วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555

แนวทางการดำเนินงาน “เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา”

จากการประชุมตัวแทนครั้งที่ 1/2555 วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2555 และการจัดเสวนา วันเสาร์ที่ 31 มี.ค.55 ได้กำหนดวัตถุประสงค์หลัก คือ การพัฒนาอาชีพให้มีความมั่นคงเข้มแข็ง ดำรงไว้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีในวิชาชีพ เพื่อคุณภาพการศึกษาไทย โดยมีแนวทางการดำเนินงาน ดังต่อไปนี้

1. ยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา หรือ กพอ.) โดยมี 2 ประเด็นหลักๆ ดังนี้
ประเด็นที่ 1 ให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณขั้นต่ำสำหรับพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา 1.5 - 1.7 เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2555
ประเด็นที่ 2 ให้กำหนดหรือบังคับมหาวิทยาลัยจัดสวัสดิการและผลประโยชน์เกื้อกูลต่างๆ ให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยโดยให้เทียบเท่ากับข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ได้แก่ การรักษาพยาบาล เงินประจำตำแหน่งทางวิชาการ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และความมั่นคงในการทำงาน
* ยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทางการบริหารพนักงานมหาวิทยาลัยต่อประธาน กพอ. เพื่อให้กำกับดูแลมหาวิทยาลัยต่างๆ

2. จัดตั้งเครือข่ายพนักงานในส่วนภูมิภาค โดยใช้ชื่อว่า “เครือข่ายพนักงานมหาวิทยาลัย (ระบุชื่อมหาวิทยาลัย)” และกำหนดให้มีผู้ประสานงานหลักในแต่ละมหาวิทยาลัย เพื่อความเข้มแข็งและทำงานร่วมกับ “เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” ส่วนกลาง

3. ทำเรื่องของพนักงานมหาวิทยาลัยให้เป็นประเด็นสาธารณะ โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจกับพนักงานมหาวิทยาลัยและผู้บริหาร รวมทั้งขยายแนวคิดให้กว้างขวางและสร้างความตระหนักแก่คนในสังคม ดังนี้
3.1 การจัดเสวนาวิชาการ ครั้งที่ 1 จุฬาฯ วันที่ 31 มี.ค.55
3.2 การจัดเสวนาวิชาการ ครั้งที่ 2 ม.ธรรมศาสตร์/มรภ.สวนสุนันทา วันที่ .... พ.ค.55
3.3 การจัดเสวนาวิชาการ ครั้งที่.... สัญจรตามภาคต่างๆ ที่พร้อม
3.4 การออกรายการข่าว สถานีโทรทัศน์ Thai PBS วันที่ 30 มี.ค.55
3.5 การออกรายการสถานีประชาชน สถานีโทรทัศน์ Thai PBS วันที่ 12 เม.ย.55
3.6 ลงข่าวในหนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 1 เม.ย.55
3.7 การเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์มติชน (ส่งไปแล้ว)

4. รวบรวบรายชื่อสมาชิกจากมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยจัดทำเป็นเอกสารและทำเว็บไซต์ เพิ่มเติมจาก facebook (หากจะเสนอกฎหมายต้องรวบรวมรายชื่อไม่น้อยกว่า 10,000 คน )

5. แก้ไข พรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 เป็น “พรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนและพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.......” หรือจัดทำร่างพระราชบัญญัติระเบียบพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยดูตัวอย่างจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

6. แนวทางสุดท้ายหากปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข คือ การชุมนุมประท้วงเรียกร้อง “สิทธิ” (ซึ่งต้องมีแนวร่วมมากพอสมควร)

ทั้งนี้ เพื่อความเป็นเอกภาพและความเข้มแข็งของเครือข่าย การดำเนินกิจกรรมทั้งหมดขอให้ใช้ชื่อ “เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” โดยให้ผู้ประสานงานหลักในแต่ละมหาวิทยาลัยลงนามในเอกสารเองได้เลย โดยใช้ชื่อว่า “ผู้ประสานงานเครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา”

วันเสาร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2555

จดหมายถึงรัฐมนตรี ศธ. (ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช)


เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา
วันที่           กุมภาพันธ์  ๒๕๕๕
เรื่อง   ขอให้พิจารณาเงินเดือนและสวัสดิการของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
เรียน   ฯพณฯ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๕ โดยปรับเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุวุฒิปริญญาตรี ๑๕,๐๐๐ บาท ปริญญาโท ๑๗,๕๐๐ และปริญญาเอก ๒๑,๐๐๐ บาท ไปแล้วนั้น ซึ่งยังไม่ได้ครอบคลุมถึงพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ยังไม่ได้ออกนอกระบบราชการ จำนวน ๖๕ สถาบัน โดยมีจำนวนหลายหมื่นคน
อนึ่ง มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๒ ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณ
เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการจ้างบุคลากรสาย ก. ในอัตราข้าราชการแรกบรรจุ ซึ่งเป็นอัตราปัจจุบันบวกด้วยอัตราเพิ่มอีกร้อยละ ๗๐ และให้จ้างบุคลากรสาย ข. และสาย ค. ในอัตราข้าราชการแรกบรรจุ ซึ่งเป็นอัตราปัจจุบัน
บวกด้วยอัตราเพิ่มอีกร้อยละ ๕๐ จนกว่าจะปรับเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลเร่งพิจารณาใน ๒ ประเด็นต่อไปนี้
. ให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อเป็นค่าจ้างขั้นต่ำให้กับพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ อีกร้อยละ ๗๐ และ ๕๐ เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๕
๒. ให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษากำกับดูแลการจัดสวัสดิการและผลประโยชน์เกื้อกูลต่างๆ ของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ให้เทียบเท่ากับข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ได้แก่ การรักษาพยาบาล เงินประจำตำแหน่งทางวิชาการ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ความมั่นคงในการทำงาน และการเลิกจ้างงานอย่างไม่เป็นธรรม
ทั้งนี้ เพื่อการพัฒนาอาชีพให้มีเกียรติศักดิ์ศรี มีความมั่นคง มีเงินเดือนและสวัสดิการที่ดี สามารถจูงใจให้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถสูงและเป็นคนดีเข้ามาปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย มิเช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยในอนาคต
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

                                                                    ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
                                                              เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา


หลักฐานเกี่ยวกับการดำเนินงานของเครือข่าย


ความเป็นมาของเครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา


1.  ชื่อโครงการ    โครงการจัดตั้งเครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา
2.  ผู้รับผิดชอบโครงการ      คณะกรรมการเครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา
3.  หลักการและเหตุผล

พนักงานมหาวิทยาลัยได้ถูกนำมาใช้แทนระบบ ข้าราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2542  ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนาอุดมศึกษาที่ต้องการให้เปลี่ยนสถานภาพการบริหารเป็น มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องความคล่องตัวในการบริหารและปัญหาสมองไหลที่ไม่สามารถดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถสูงเข้ามาทำงานได้ โดยการให้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 70 และ 50 ของอัตราข้าราชการแรกบรรจุในปัจจุบัน รวมทั้งจัดสวัสดิการและผลประโยชน์เกื้อกูลต่างๆ ไม่น้อยกว่าระบบราชการที่เคยได้รับ 

การเปลี่ยนสถานภาพดังกล่าวได้ล่วงเลยมาเวลา 13 ปี มีสถาบันการศึกษาที่ได้เปลี่ยนสถานภาพการบริหารเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ จำนวน 14 สถาบัน ยังคงเหลืออีก 65 สถาบัน ในขณะที่บุคลากรที่เข้ามาทำงานใหม่ได้เปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหมดแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงพนักงานมหาวิทยาลัยกลับไม่ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการตามหลักการที่ได้กล่าวกันไว้ เช่น การรักษาพยาบาลต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคม ซึ่งเป็นการทำลายเกียรติยศและศักดิ์ศรีของข้าราชการในมหาวิทยาลัย และอาจเกิดผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน การทุ่มเทในการปฏิบัติหน้าที่ ความจงรักภักดีต่อองค์กร และคุณภาพของอุดมศึกษาในระยะยาว จึงได้รวมกลุ่มกันและได้จัดประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2555 โดยได้ตกลงใช้ชื่อกลุ่มว่า เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” 

4.  วัตถุประสงค์
4.1 เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในเรื่องสวัสดิการและสิทธิประโยชน์เกื้อกูลต่าง ๆ ของพนักงานมหาวิทยาลัย
4.2 เพื่อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาเรื่องสวัสดิการและสิทธิประโยชน์เกื้อกูลต่าง ๆ ของพนักงานมหาวิทยาลัยต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัย

5.  สมาชิกเครือข่าย
               พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ

6.  สถานที่ติดต่อและสมัครเป็นสมาชิก

7  ที่ปรึกษาเครือข่ายฯ
7.1 ศาสตราจารย์ ดร.ภาวิช ทองโรจน์
7.2  ศาสตราจารย์ ดร.สุมนต์ สกลไชย

7.3 ผศ.จริยา หาสิตพานิชกุล

8.   ผลที่คาดว่าจะได้รับ
8.1 เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา
8.2 การพัฒนาระบบพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา
8.3 คุณภาพการศึกษาไทย

9. สัญลักษณ์






ข่าวการศึกษา เกี่ยวกับพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา

เงินเดือน ค่าครองชีพ เกียรติและศักดิ์ศรี



มหาวิทยาลัยนอกระบบ

รายงานการวิจัย

พรบ. กฏ ระเบียบ เกี่ยวกับพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา

พระราชบัญญัติ

กฏ

ระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลสารสนเทศ 

สถาบันอุดมศึกษากลุ่มใหม่

พระราชกฤษฏีกา


จดหมายถึงไทยพีบีเอส

เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา

วันที่ 12 มีนาคม 2555

เรื่อง สถานะภาพของพนักงานมหาวิทยาลัย
เรียน ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

ในอดีตที่ผ่านมา“อาจารย์มหาวิทยาลัย” คือผู้นำความคิดของสังคมในฐานะผู้สอนและผู้เสนอความคิดให้กับเยาวชนไทยที่จะเติบใหญ่ออกไปนำสังคมไทยทุกวิชาชีพ​ แทบกล่าวได้ว่า “อาจารย์มหาวิทยาลัย”อยู่คู่กับวิวัฒนาการทางสังคมและการพัฒนาประเทศ ในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของสังคมไทย ทุก​ครั้งที่มีการเคลื่อนไหวในการเปลี่ยนแปลงของประเทศ “อาจารย์มหาวิทยาลัย”จะมีบทบาทในฐานะผู้นำทางสังคมแทบทั้งสิ้น

ด้วยคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) และคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการ (ค.ป.ร.) ได้ระงับการกำหนดอัตราข้าราชการใหม่ทุกประเภทให้กับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐมาตั้งแต่1 ตุลาคม 2542 โดยได้จัดสรรอัตราให้เท่าที่จำเป็นในระบบใหม่ที่เรียกว่า“พนักงานมหาวิทยาลัย” ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนาอุดมศึกษาที่ต้องการให้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐเปลี่ยนสถานภาพเป็น“มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ”

เนื่องจากที่ผ่านมาสถาบันอุดมศึกษาอยู่ในระบบราชการมีระเบียบหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ มากมาย ขาดความคล่องตัว ไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งในเรื่องการบริหารงานบุคคลการบริหารงบประมาณ การเงินและพัสดุ ซึ่งขัดกับลักษณะการบริหารสถาบันอุดมศึกษาที่ต้องการความเป็นอิสระคล่องตัวเพื่อให้เกิดความเป็นเลิศและความก้า​วหน้าทางวิชาการ

แต่ในปัจจุบันถึงแม้ว่าสถาบันอุดมศึกษาไม่สามารถเปลี่ยนสถานภาพการบริหารเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐได้ แต่ “อาจารย์มหาวิทยาลัย”และ “เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย”ที่เข้ามาใหม่ทั้งหมดได้ถูกเปลี่ยนสถานภาพจาก “ข้าราชการ” เป็น“พนักงานมหาวิทยาลัย” โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ พนักงานมหาวิทยาลัยเงินงบประมาณแผ่นดินกับพนักงานมหาวิทยาลัยเงินรายได้ ซึ่งมีจำนวนหลายหมื่นคน

การปรับเปลี่ยนสถานภาพนี้มิได้เป็นไปตามหลักการของทบวงมหาวิทยาลัยในอดีตที่เคยกล่าวไว้ว่า“พนักงานมหาวิทยาลัย” เป็นพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ภายใต้กฎหมายของมหาวิทยาลัยไม่ใช่ข้าราชการ ไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ และกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม โดยได้รับค่าตอบแทนที่สูงกว่าในปัจจุบันซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม2542 ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าตอบแทนสำหรับการจ้างบุคลากรสาย ก.ในอัตราข้าราชการแรกบรรจุ ซึ่งเป็นอัตราปัจจุบันบวกด้วยอัตราเพิ่มอีกร้อยละ 70(1.7 เท่า) และให้จ้างบุคลากรสาย ข. และสาย ค. ในอัตราข้าราชการแรกบรรจุซึ่งเป็นอัตราปัจจุบันบวกด้วยอัตราเพิ่มอีกร้อยละ 50 (1.5 เท่า) จนกว่าจะปรับเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐโดยที่ในปัจจุบันมีสถาบันอุดมศึกษาเพียง 14 แห่งที่เปลี่ยนสถานภาพการบริหารเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐได้ ยังคงเหลืออีก 65 แห่ง ที่ไม่สามารถเปลี่ยนสถานภาพการบริหารได้

การปรับสถานะ “อาจารย์มหาวิทยาลัย”และ “เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย” ดังกล่าว ยังผูกมัดไว้ด้วยระบบ “สัญญาจ้าง” ที่มีระยะเวลาการว่าจ้างตามสัญญา ส่งผลให้อาจารย์มหาวิทยาลัยขาดอิสระทางความคิด เพราะติดอยู่กั​บการจ้างงานที่ขาดความมั่นคงและเป็นธรรม เปรียบเสมือนรัฐกำลังต้องการควบคุมความคิดของอาจารย์มหาวิทยาลัยไว้ไม่ให้แสดงออกในด้านใดที่ส่งผลกระทบต่อการเ​ปลี่ยนแปลงภาครัฐ ด้วยสัญญาจ้างงานตามระยะเวลา

ทั้งที่ในความเป็นจริง“พนักงานมหาวิทยาลัย” กลับได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการที่แตกต่างกันในแต่ละสถาบันและที่สำคัญ คือ ไม่ได้รับการจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2542ในเรื่อง 1.7 และ 1.5 เท่าของอัตราเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุที่เป็นอัตราปัจจุบันและไม่ได้รับการปรับเงินเดือนหลายครั้งตามการปรับ​เงินเดือนข้าราชการ โดยเฉพาะมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่31 มกราคม 2555 ที่ให้ได้รับเงินเดือนข้าราชการรวมกับค่าครองชีพสำหรับผู้ที่จบปริญญาตรีเป็น15,000 บาท ซึ่งเป็นการทำลายระบบโครงสร้างเงินข้าราชการและพนักงานมหาวิทยาลัย อีกทั้งบางมหาวิทยาลัยยังฉวยโอกาสไม่ปรับเงินเดือนให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยเลยตลอดสัญญาจ้างที่ผ่านมา ซึ่งไม่เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ส่งผลให้ “พนักงานมหาวิทยาลัย” มีภาวะความเป็นอยู่ที่ยากลำบากมาก

นอกจากนั้นพนักงานมหาวิทยาลัยได้สูญเสียสิทธิและผลประโยชน์เกื้อกูลต่างๆที่เป็นข้อดีของระบบราชการไปเกือบทั้ง​หมด เช่น
1. สวัสดิการในการรักษาพยาบาลตนเอง บิดามารดาคู่สมรสและบุตร โดยต้องไปใช้ “ระบบประกันสังคม” ซึ่งมีสถานภาพเหมือนกับลูกจ้างในบริษัทหรือโรงงานอุตสาหกรรมในขณะที่การรักษาพยาบาลจากระบบประกันสังคมมีปัญหาท​ั้งเรื่องการให้บริการและคุณภาพของยา

2. เงินประจำตำแหน่งทางวิชาการ โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนเช่นเดียวกับข้าราชการ(บางสถาบันอาจให้ได้รับเงินค่าตอบแทนอีก 1 เท่า) ดังนี้

3. การไม่ได้รับเงินบำเหน็จบำนาญและไม่สามารถเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(ก.บ.ข.) ได้ ในขณะที่ต้องไปใช้ระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนประกันสังคมซึ่งมีสถานะภาพที่แย่กว่า

4.การไม่มีความมั่นคงและขวัญกำลังใจในการทำงาน โดยจะต้องมีการประเมินผลการปฏิบัติงานและการต่อ“สัญญาจ้าง” ตามปีที่กำหนด ทำให้ไม่สามารถดำเนินการธุรกรรมทางการเงินหรือการค้ำประกันได้ เท่ากับมีสถานะภาพที่เลวร้ายยิ่งกว่าพนักงานบริษัทเอกชนเสียอีก

5. อื่นๆ เช่นการลาศึกษาต่อ การตรวจสุขภาพประจำปี เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เงินตอบแทนพิเศษประจำปี(โบนัส)

จากกระบวนการที่กล่าวมาส่งผลให้ เกียรติยศและศักดิ์ศรีของอาจารย์มหาวิทยาลัย ตกต่ำถึงขีดสุดในปัจจุบัน จนอาจกล่าวได้ว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยมีหน้าที่เพียงผลิตบัณฑิตตามเป้าหมายของสถาบันอุดมศึกษา ไม่สามารถชี้นำทางความคิดแก่สังคมเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ยังไม่รวมถึงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของอาจารย์มหาวิทยาลัยที่แย่เสียยิ่งกว่าครูโรงเรียนประถมศึกษาในปัจจุบัน​ จนถึงขนาดที่ “อาจารย์มหาวิทยาลัย” บางคนละทิ้งอุดมการณ์ไปสมัครสอบเป็น “ครูประถมศึกษา”แทน

จึงเป็นเหตุผลให้เกิดการรวมตัวของพนักงานมหาวิทยาลัย ในนาม “เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” เพื่อเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายได้แก่ รัฐบาล , รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ,ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา , สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ,สำนักงบประมาณ และสถาบันอุดมศึกษาพิจารณาแก้ไขปัญหาในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. ปรับเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งระบบโดยให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อเป็นค่าจ้างขั้นต่ำให้กับพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐร้อยละ 70 และ 50 ของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มกราคม2555

2. ให้กระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษากำกับดูแลการจัดสวัสดิการและผลประโยชน์เกื้อกูลต่างๆขอ​งพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ให้ไม่น้อยกว่าหรือเทียบเท่ากับข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยได้แก่
1) การรักษาพยาบาล
2) เงินประจำตำแหน่งทางวิชาการ
3) เงินตอบแทนพิเศษประจำปี(โบนัส)
4) การเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือเทียบเท่า
5) การลาศึกษาต่อ
6) การตรวจสุขภาพประจำปี
7) เครื่องราชอิสริยาภรณ์

3. จัดทำ “พระราชบัญญัติระเบียบพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา”ในลักษณะเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา โดยไม่ต้องรอให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนสถานภาพการบริหารเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐทั้งนี้เพื่อการพัฒนาการอุดมศ​ึกษาของไทย ตลอดจนการพัฒนาอาชีพนักวิชาการให้มีเกียรติศักดิ์ศรีมีความมั่นคง มีเงินเดือนและสวัสดิการที่ดี สามารถจูงใจให้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถสูงและเป็นคนดีเข้ามาปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย

4. หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามข้อ 1 – 3 ขอให้เปลี่ยนสถานภาพ“พนักงานมหาวิทยาลัย” กลับไปเป็น “ข้าราชการ” แบบเดิม

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา โดยขอให้สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเป็นสื่อกลางในการให้“เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” จำนวน 65 สถาบัน ออกรายการสถานีประชาชนหรือรายการเวทีสาธารณะตามที่ท่านจะเห็นสมควรเพื่อให้เรื่องดังกล่าวนี้เป็นประเด็นสาธารณ​ะ และขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณโอกาสนี้

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา

เชิญชวนพี่น้องพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาทุกสถาบัน


สรุปรายรับ-รายจ่าย งานเสวนาทางวิชาการ “เหลียวหลัง แลหน้า 13 ปี พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม 2555

รายได้
1. รายได้จากผู้ที่ลงทะเบียนล่วงหน้า (200 บ. X 66 คน) 13,200 บาท
2. รายได้จากผู้ที่ลงทะเบียนหน้างาน (200 บ. X 12 คน) 2,400 บาท
3. รายได้จากผู้ที่ลงทะเบียนหน้างาน (100 บ. X 15 คน) 1,500 บาท
4. เงินบริจาค 7,800 บาท
รวมรายได้ 24,900 บาท

รายจ่าย
1. ค่าอาหารว่าง (35 บ. X 170 คน) 5,950 บาท
2. ค่ากาแฟ (5 บ. X 50 คน) 250 บาท
3. ค่าอาหารกลางวัน (45 บ. X 170 คน) 7,650 บาท
4. ค่าสาธารณูปโภค 4,725 บาท
5. ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ 1,400 บาท
6. ค่าไวนิลติดหน้าอาคาร 1,900 บาท
7. ค่าตัวอักษรโฟมติดบนเวที 1,000 บาท
8. ค่าบันทึกเทปวิดีโอ 880 บาท
9. ค่าของที่ระลึกพระรูปพระเจ้าตากสิน (550 บ. X 4 คน) 2,200 บาท
ค่าของที่ระลึกข้าว (200 บ. X 3 คน) 600 บาท
10. ค่าถอดเทปและพิมพ์งานเสวนา 1,500 บาท
11. ค่าถ่ายเอกสาร 1,225 บาท
รวมรายจ่าย 29,280 บาท

รายได้ต่ำรายจ่าย - 4,380 บาท
หมายเหตุ คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ยกเว้นค่าบำรุงสถานที่ให้เป็นเงินจำนวน 5,315 บาท