วันเสาร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2555

จดหมายถึงไทยพีบีเอส

เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา

วันที่ 12 มีนาคม 2555

เรื่อง สถานะภาพของพนักงานมหาวิทยาลัย
เรียน ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

ในอดีตที่ผ่านมา“อาจารย์มหาวิทยาลัย” คือผู้นำความคิดของสังคมในฐานะผู้สอนและผู้เสนอความคิดให้กับเยาวชนไทยที่จะเติบใหญ่ออกไปนำสังคมไทยทุกวิชาชีพ​ แทบกล่าวได้ว่า “อาจารย์มหาวิทยาลัย”อยู่คู่กับวิวัฒนาการทางสังคมและการพัฒนาประเทศ ในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของสังคมไทย ทุก​ครั้งที่มีการเคลื่อนไหวในการเปลี่ยนแปลงของประเทศ “อาจารย์มหาวิทยาลัย”จะมีบทบาทในฐานะผู้นำทางสังคมแทบทั้งสิ้น

ด้วยคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) และคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการ (ค.ป.ร.) ได้ระงับการกำหนดอัตราข้าราชการใหม่ทุกประเภทให้กับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐมาตั้งแต่1 ตุลาคม 2542 โดยได้จัดสรรอัตราให้เท่าที่จำเป็นในระบบใหม่ที่เรียกว่า“พนักงานมหาวิทยาลัย” ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนาอุดมศึกษาที่ต้องการให้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐเปลี่ยนสถานภาพเป็น“มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ”

เนื่องจากที่ผ่านมาสถาบันอุดมศึกษาอยู่ในระบบราชการมีระเบียบหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ มากมาย ขาดความคล่องตัว ไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งในเรื่องการบริหารงานบุคคลการบริหารงบประมาณ การเงินและพัสดุ ซึ่งขัดกับลักษณะการบริหารสถาบันอุดมศึกษาที่ต้องการความเป็นอิสระคล่องตัวเพื่อให้เกิดความเป็นเลิศและความก้า​วหน้าทางวิชาการ

แต่ในปัจจุบันถึงแม้ว่าสถาบันอุดมศึกษาไม่สามารถเปลี่ยนสถานภาพการบริหารเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐได้ แต่ “อาจารย์มหาวิทยาลัย”และ “เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย”ที่เข้ามาใหม่ทั้งหมดได้ถูกเปลี่ยนสถานภาพจาก “ข้าราชการ” เป็น“พนักงานมหาวิทยาลัย” โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ พนักงานมหาวิทยาลัยเงินงบประมาณแผ่นดินกับพนักงานมหาวิทยาลัยเงินรายได้ ซึ่งมีจำนวนหลายหมื่นคน

การปรับเปลี่ยนสถานภาพนี้มิได้เป็นไปตามหลักการของทบวงมหาวิทยาลัยในอดีตที่เคยกล่าวไว้ว่า“พนักงานมหาวิทยาลัย” เป็นพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ภายใต้กฎหมายของมหาวิทยาลัยไม่ใช่ข้าราชการ ไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ และกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม โดยได้รับค่าตอบแทนที่สูงกว่าในปัจจุบันซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม2542 ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าตอบแทนสำหรับการจ้างบุคลากรสาย ก.ในอัตราข้าราชการแรกบรรจุ ซึ่งเป็นอัตราปัจจุบันบวกด้วยอัตราเพิ่มอีกร้อยละ 70(1.7 เท่า) และให้จ้างบุคลากรสาย ข. และสาย ค. ในอัตราข้าราชการแรกบรรจุซึ่งเป็นอัตราปัจจุบันบวกด้วยอัตราเพิ่มอีกร้อยละ 50 (1.5 เท่า) จนกว่าจะปรับเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐโดยที่ในปัจจุบันมีสถาบันอุดมศึกษาเพียง 14 แห่งที่เปลี่ยนสถานภาพการบริหารเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐได้ ยังคงเหลืออีก 65 แห่ง ที่ไม่สามารถเปลี่ยนสถานภาพการบริหารได้

การปรับสถานะ “อาจารย์มหาวิทยาลัย”และ “เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย” ดังกล่าว ยังผูกมัดไว้ด้วยระบบ “สัญญาจ้าง” ที่มีระยะเวลาการว่าจ้างตามสัญญา ส่งผลให้อาจารย์มหาวิทยาลัยขาดอิสระทางความคิด เพราะติดอยู่กั​บการจ้างงานที่ขาดความมั่นคงและเป็นธรรม เปรียบเสมือนรัฐกำลังต้องการควบคุมความคิดของอาจารย์มหาวิทยาลัยไว้ไม่ให้แสดงออกในด้านใดที่ส่งผลกระทบต่อการเ​ปลี่ยนแปลงภาครัฐ ด้วยสัญญาจ้างงานตามระยะเวลา

ทั้งที่ในความเป็นจริง“พนักงานมหาวิทยาลัย” กลับได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการที่แตกต่างกันในแต่ละสถาบันและที่สำคัญ คือ ไม่ได้รับการจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2542ในเรื่อง 1.7 และ 1.5 เท่าของอัตราเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุที่เป็นอัตราปัจจุบันและไม่ได้รับการปรับเงินเดือนหลายครั้งตามการปรับ​เงินเดือนข้าราชการ โดยเฉพาะมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่31 มกราคม 2555 ที่ให้ได้รับเงินเดือนข้าราชการรวมกับค่าครองชีพสำหรับผู้ที่จบปริญญาตรีเป็น15,000 บาท ซึ่งเป็นการทำลายระบบโครงสร้างเงินข้าราชการและพนักงานมหาวิทยาลัย อีกทั้งบางมหาวิทยาลัยยังฉวยโอกาสไม่ปรับเงินเดือนให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยเลยตลอดสัญญาจ้างที่ผ่านมา ซึ่งไม่เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ส่งผลให้ “พนักงานมหาวิทยาลัย” มีภาวะความเป็นอยู่ที่ยากลำบากมาก

นอกจากนั้นพนักงานมหาวิทยาลัยได้สูญเสียสิทธิและผลประโยชน์เกื้อกูลต่างๆที่เป็นข้อดีของระบบราชการไปเกือบทั้ง​หมด เช่น
1. สวัสดิการในการรักษาพยาบาลตนเอง บิดามารดาคู่สมรสและบุตร โดยต้องไปใช้ “ระบบประกันสังคม” ซึ่งมีสถานภาพเหมือนกับลูกจ้างในบริษัทหรือโรงงานอุตสาหกรรมในขณะที่การรักษาพยาบาลจากระบบประกันสังคมมีปัญหาท​ั้งเรื่องการให้บริการและคุณภาพของยา

2. เงินประจำตำแหน่งทางวิชาการ โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนเช่นเดียวกับข้าราชการ(บางสถาบันอาจให้ได้รับเงินค่าตอบแทนอีก 1 เท่า) ดังนี้

3. การไม่ได้รับเงินบำเหน็จบำนาญและไม่สามารถเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(ก.บ.ข.) ได้ ในขณะที่ต้องไปใช้ระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนประกันสังคมซึ่งมีสถานะภาพที่แย่กว่า

4.การไม่มีความมั่นคงและขวัญกำลังใจในการทำงาน โดยจะต้องมีการประเมินผลการปฏิบัติงานและการต่อ“สัญญาจ้าง” ตามปีที่กำหนด ทำให้ไม่สามารถดำเนินการธุรกรรมทางการเงินหรือการค้ำประกันได้ เท่ากับมีสถานะภาพที่เลวร้ายยิ่งกว่าพนักงานบริษัทเอกชนเสียอีก

5. อื่นๆ เช่นการลาศึกษาต่อ การตรวจสุขภาพประจำปี เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เงินตอบแทนพิเศษประจำปี(โบนัส)

จากกระบวนการที่กล่าวมาส่งผลให้ เกียรติยศและศักดิ์ศรีของอาจารย์มหาวิทยาลัย ตกต่ำถึงขีดสุดในปัจจุบัน จนอาจกล่าวได้ว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยมีหน้าที่เพียงผลิตบัณฑิตตามเป้าหมายของสถาบันอุดมศึกษา ไม่สามารถชี้นำทางความคิดแก่สังคมเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ยังไม่รวมถึงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของอาจารย์มหาวิทยาลัยที่แย่เสียยิ่งกว่าครูโรงเรียนประถมศึกษาในปัจจุบัน​ จนถึงขนาดที่ “อาจารย์มหาวิทยาลัย” บางคนละทิ้งอุดมการณ์ไปสมัครสอบเป็น “ครูประถมศึกษา”แทน

จึงเป็นเหตุผลให้เกิดการรวมตัวของพนักงานมหาวิทยาลัย ในนาม “เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” เพื่อเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายได้แก่ รัฐบาล , รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ,ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา , สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ,สำนักงบประมาณ และสถาบันอุดมศึกษาพิจารณาแก้ไขปัญหาในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. ปรับเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งระบบโดยให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อเป็นค่าจ้างขั้นต่ำให้กับพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐร้อยละ 70 และ 50 ของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มกราคม2555

2. ให้กระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษากำกับดูแลการจัดสวัสดิการและผลประโยชน์เกื้อกูลต่างๆขอ​งพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ให้ไม่น้อยกว่าหรือเทียบเท่ากับข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยได้แก่
1) การรักษาพยาบาล
2) เงินประจำตำแหน่งทางวิชาการ
3) เงินตอบแทนพิเศษประจำปี(โบนัส)
4) การเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือเทียบเท่า
5) การลาศึกษาต่อ
6) การตรวจสุขภาพประจำปี
7) เครื่องราชอิสริยาภรณ์

3. จัดทำ “พระราชบัญญัติระเบียบพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา”ในลักษณะเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา โดยไม่ต้องรอให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนสถานภาพการบริหารเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐทั้งนี้เพื่อการพัฒนาการอุดมศ​ึกษาของไทย ตลอดจนการพัฒนาอาชีพนักวิชาการให้มีเกียรติศักดิ์ศรีมีความมั่นคง มีเงินเดือนและสวัสดิการที่ดี สามารถจูงใจให้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถสูงและเป็นคนดีเข้ามาปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย

4. หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามข้อ 1 – 3 ขอให้เปลี่ยนสถานภาพ“พนักงานมหาวิทยาลัย” กลับไปเป็น “ข้าราชการ” แบบเดิม

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา โดยขอให้สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเป็นสื่อกลางในการให้“เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” จำนวน 65 สถาบัน ออกรายการสถานีประชาชนหรือรายการเวทีสาธารณะตามที่ท่านจะเห็นสมควรเพื่อให้เรื่องดังกล่าวนี้เป็นประเด็นสาธารณ​ะ และขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณโอกาสนี้

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา

13 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ2 เมษายน 2555 เวลา 09:16

    ขณะนี้ก็เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอยู่คะ อยากไปสอบ ครูประถม เหมือนกัน เบื่อหน่ายกับระบบและสวัสดิการ ที่ล้มเหลว

    ขอบคุณคะ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ20 เมษายน 2555 เวลา 19:59

    เป็นอาจารย์อัตราจ้างตั้งแต่ปี 2539 จบปริญญาตรี เงินเดือน 6,360 ตอนนี้จบปริญาเอกชีวิตก็เหมือนเดิม ชีวิตต้องอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ เป็นประชากรชั้น 2 ผู้บริหารหรือข้าราชการจะไปรู้สึกได้อย่างไรเล่า สถานภาพมันไม่เหมือนกัน ท่านไม่เดือดร้อนนี่ไม่เป็นท่านบ้างละ เอาใจเขามาใส่ใจเราบ้างนะท่านผู้บริหารทั้งหลาย
    เพื่อนพนักงานและผู้นำทุกท่านเดินหน้าเต็มที่และจะไปร่วมทุกกรณี

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ21 พฤษภาคม 2555 เวลา 07:54

    ในอดีตภาพลักษณ์ของอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นผู้มีความสามารถสูง ทำให้บุคคลเรียนเก่งในระดับต้นอยากเป็นแบบนั้นบ้าง แต่พอได้ยินเรื่องสวัสดิภาพรวมถึงคุณภาพชีวิต ทำให้บุคคลที่มีความสามารถไปทำอาชีพอื่น คนที่ไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนมากไม่ใช่หัวกระทิอย่างที่เคยเป็นมา มีแต่บรรดาคนที่สอบทำงานไม่ได้ แล้วไปเรียนต่อ สุดท้ายก็เลยไปเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย รัฐบาลจึงต้องรับผิดชอบกับปัญหาเหล่านี้ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ3 กรกฎาคม 2555 เวลา 19:57

    ข้าพเจ้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยที่จ้างด้วยเงินงบประมาณ (สายสนับสนุน)เป็นพนักงานตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2542 เป็นรุ่นแรกที่มีการปรับระบบ ทำงานมาแล้ว 14 ปี ปัจจุบันได้ดำรงตำแหน่งในระดับชำนาญการพิเศษ แต่ค่าตอบแทนตามตำแหน่งน้อยมาก และเรื่องสวัสดิการที่จัดให้กับพนักงานน้อยมาก สวัสดิการที่จัดให้เป็นก้อน (1.7/1.5) ความจริงไม่สามารถที่จะให้พนักงานดำรงชีพได้ อยู่ด้วยความลำบากและไม่มีความมั่นคง หากไม่สามารถปรับตามข้อ 1-3 ได้ ข้าพเจ้าเห็นด้วยที่จะให้ปรับพนักงาน ให้เป็นข้าราชการ แบบเดิม

    จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

    ตอบลบ
  5. ถ้าไม่ทำ ก็ลาออกไปครับ

    ตอบลบ
  6. ไม่ระบุชื่อ29 กรกฎาคม 2555 เวลา 00:41

    เรียน @ Sopon ไม่ผิดืชที่คิดต่างแต่หากไม่ใ้หกำลังใจก็อย่ามแสดงควาามถ่อยแบบนี้ครับ

    ตอบลบ
  7. ไม่ระบุชื่อ17 สิงหาคม 2555 เวลา 19:37

    ผมเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยนะครับ

    ผมเห็นว่าปรับไม่ได้ตามข้อ 1 - 2 เพราะขัดกันเอง คือ

    ข้อ 1 จะเอาเงินเดือนมากกว่าเดิม 1.5-1.7 เท่า
    ข้อ 2 สวัสดิการเทียบเท่าข้าราชการ

    จะทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมและความขัดแย้งในองค์กรทันที แต่ถ้าขอว่า

    ข้อ 1 เงินเดือนเท่าข้าราชการ
    ข้อ 2 สวัสดิการเท่าข้าราชการ

    อย่างนี้ก็พอเป็นไปได้

    ผมว่าพนักงานต้องละเอียดนะครับเรื่องนี้ คำก็ศักดิ์ศรี คำก็ไม่ยุติธรรม หลักการมันง่ายนิดเดียว คือ ถ้าอยากรับเงินเดือนมากๆ ก็ต้องได้รับการจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ น้อยลงบ้าง

    ประเด็นสำคัญเรื่องนี้คือ รัฐบาลต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายเพื่อการบริหารข้าราชการลง ดังนั้นมองในแง่มุมไหนพนักงานมหาวิทยาลัยจะได้รับจัดสรรจากรัฐน้อยกว่าหรือเท่ากับข้าราชการ ถ้าเท่ากันก็ไม่สามารถตอบสนองนโยบายได้ มีอยู่ทางเดียวคือ ใช้คนให้น้อยและใช้ให้คุ้ม นั่นหมายถึงอาจจะต้องมีหลายคนที่จะต้องไปทำงานนอกระบบ

    ผมแค่ติดใจว่า เราจะสามารถหาความสมดุลระหว่างค่าตอบแทนและสวัสดิการอย่างไร ให้ทั้งพนักงานและข้าราชการรู้สึกว่าเท่าเทียม

    ตอนนี้มหาวิทยาลัยผมเริ่มมีข้าราชการบางส่วนรู้สึกว่าพนักงานเงินเดือนเยอะไปหรือไม่ ทำงานแค่หนึ่งปีเงินเดือนเท่ากับหรือมากกว่าคนที่ทำมา 10-20 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการมองในมุมที่ไม่กว้างพอ ไม่มีข้อมุลเชิงสถิติและตัวเลขที่สมเหตุผลประกอบ จะไม่สามารถทำอะไรได้มาก

    ผมพยายามหาข้อมูลอยู่นาน ตอนนี้ทราบคร่าวๆว่า เฉพาะค่ารักษาพยาบาลของครอบครัวข้าราชการ ซึ่งรวมแล้วมีผู้มีสิทธิเบิกได้ (ข้าราชการ+ครอบครัว) ประมาณ 6 ล้านคน เป็นเงินประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ก้อเฉลี่ยต่อผู้มีสิทธิเบิกได้ประมาณ 10000 บาทต่อคนต่อปี
    ผมเห็นว่าก็เป็นตัวเลขอ้างอิงได้ลำบาก เพราะการจ่ายจริง นั้นอาจสูงถึงนับแสนๆ บาท เป็นต้นครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

      ลบ
    2. ท่านเอย .. มันเป็นมติของรัฐบาล ครับ ไม่ได้คิดเอง เออเอง
      ไอ้เรื่องนี้ น่ะ
      ข้อ 1 จะเอาเงินเดือนมากกว่าเดิม 1.5-1.7 เท่า
      ข้อ 2 สวัสดิการเทียบเท่าข้าราชการ

      ลบ
  8. ไม่ระบุชื่อ23 สิงหาคม 2555 เวลา 11:40

    อันดับแรกเลย ผมว่า จะอย่างไรก็ต้องให้มีกฎหมายกลางก่อน มิเช่นนั้นอยู่ลำบาก มีกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติที่เป็นของตัวเอง จะทำให้พนักงานมหาวิทยาลัย มีสถานภาพตามกฎหมาย ไม่เหมือนในปัจจุบันที่อาศัยแค่ระเบียบของมหาวิทยาลัย จะอ้าง พ.ร.บ.อะไรก็ไม่ได้เลย เอาอันนี้ก่อนเลย

    ตอบลบ
  9. ไม่ระบุชื่อ5 กันยายน 2555 เวลา 20:08

    ตอนปรับเงินเดือนพนักงานมหาลัยตำแหน่งอาจารย์ให้สูงกว่าข้าราชการตั้งเยอะไม่เห็นโวยวายเลย มันต้องได้อย่างเสียอย่างสิ ไม่ใช่คิดจะได้ทุกอย่าง

    ตอบลบ
  10. ไม่ระบุชื่อ5 กันยายน 2555 เวลา 21:07

    ช่วยศึกษาข้อมูลให่รอบด้านก่อยวิจารณ์ได้ไหมคะ เงินเดือนสูงกว่าแต่ไม่ได้ปรับทุกครั้ง มากกว่าข้าราชการไป3-4พัน แต่ข้าราชการป่วยทีหมดเป็นแสนก็เบิกได้...เบิกได้ทั้งครอบครัวอีก ไม่อยากมีปัญหากับข้าราชการนะคะ แต่ช่วยคิดก่อนพูด และขอให้รู้จริงด้วย โอเคนะคะ

    ตอบลบ