วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การปรับค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานมหาวิทยาลัย มติคณะรัฐมนตรี 30 สิงหาคม 2548


วันนี้ (วันอังคารที่ 30 สิงหาคม 2548) เมื่อเวลา 08.30 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 2 ตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลังใหม่ ทำเนียบรัฐบาล พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

19. เรื่อง การปรับค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานมหาวิทยาลัย
คณะรัฐมนตรีพิจารณาการปรับค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ แล้วมีมติดังนี้
  1. อนุมัติในหลักการให้ปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างพนักงานมหาวิทยาลัย ตามแนวทางเดียวกับการปรับปรุง ค่าตอบแทนภาคราชการ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2547 (เรื่องมาตรการปรับค่าตอบแทนภาคราชการ และเรื่อง การกำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการเกี่ยวกับการปรับปรุงค่าตอบแทนของข้าราชการ) และมติ คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2547 (เรื่อง การปรับปรุงค่าตอบแทนเพื่อช่วยเหลือการครองชีพข้าราชการระดับต้น ระยะเฉพาะหน้า) ทั้งนี้ ภายในวงเงินงบประมาณ 361.58 ล้านบาท โดยให้กระทรวงศึกษาธิการทำความตกลงใน รายละเอียดกับสำนักงบประมาณเพื่อใช้เงินเหลือจ่ายหรือปรับแผนการใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2548 ตามความเห็นสำนักงบประมาณ
  2. เห็นชอบตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ในการจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยใหม่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 และการจัดสรรงบประมาณเพิ่มสำหรับการเลื่อนขั้นตามหลักเกณฑ์ ไม่เกินร้อยละ 4 เช่นเดียวกับองค์การมหาชน องค์กรอิสระ และมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
  3. การปรับปรุงค่าตอบแทนการจ้างพนักงานมหาวิทยาลัย เพื่อให้สัมพันธ์กับการปรับปรุงค่าตอบแทนภาคราชการในโอกาสต่อไป ให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการเพื่อขอรับการจัดสรรเป็นคราว ๆ ไป
กระทรวงศึกษาธิการรายงานว่า จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2547 ก่อให้เกิดผลกระทบกับระบบพนักงานมหาวิทยาลัย ดังนี้
  1. พนักงานที่เข้าสู่ระบบแล้ว โดยได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของข้าราชการ และมีเงื่อนไขสภาพความมั่นคงที่ขึ้นอยู่กับการประเมินผลการปฏิบัติงาน และการต่อสัญญาจ้างเป็นครั้ง ๆ ไปนั้น หากมหาวิทยาลัยไม่สามารถปรับอัตราค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นในแนวทางเดียวกับข้าราชการที่ได้รับการปรับอัตราเงินเดือนและได้รับเงินค่าตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือน ย่อมก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม และทำให้การบำรุงรักษาพนักงานที่มีคุณภาพให้อยู่ในระบบต่อไปเป็นไปได้โดยยาก เนื่องจากพนักงานมหาวิทยาลัยอยู่ในสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ และสถานภาพทางสังคมที่ไม่แตกต่างจากข้าราชการ
  2. การจ้างพนักงานใหม่ หากมหาวิทยาลัยไม่สามารถปรับอัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้น ก็จะไม่จูงใจคนที่มีความรู้ความสามารถและไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดแรงงาน การสรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์สูง เข้าสู่ระบบจะเป็นไปได้ยากขึ้น โดยเฉพาะบุคลากรในสายผู้สอน ซึ่งต้องเป็นบุคคลที่พัฒนาความรู้ของตนเองอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอเพื่อให้ทันต่อความก้าวหน้าทางวิชาการ
ทั้งนี้ นโยบายการจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยทดแทนอัตราราชการเป็นการเตรียมการเพื่อสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐด้วย และโดยเหตุที่หลักการกำหนดอัตราค่าจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยนั้น กำหนดจากฐานเงินเดือนของข้าราชการแรกบรรจุและบวกด้วยเงินเพิ่ม ในกรณีที่มีการปรับใช้บัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการใหม่ ซึ่งเป็นผลให้อัตราข้าราชการแรกบรรจุเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการให้ได้รับเงิน ค่าตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือนอัตราค่าตอบแทนพนักงานมหาวิทยาลัย จึงควรได้รับการปรับเพิ่มขึ้นโดยสัมพันธ์กับการปรับปรุงค่าตอบแทนภาคราชการที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย